Your browser doesn’t support HTML5
งานวิจัยชิ้นนี้ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Psychology of Music ฉบับล่าสุดบอกไว้ว่า เสียงดนตรีที่ตลบอบอวลอยู่รอบตัวเรา อาจเป็นอาหารชั้นดีของความรัก และความรู้สึกสนอกสนใจหรือดึงดูดใจในหมู่ผู้ชายโสดหรือผู้หญิงโสดอาจเพิ่มขึ้นได้ หากมีเสียงดนตรีคลอไปด้วยระหว่างการพบปะสนทนากันในครั้งแรก
Wall Street Journal ตีพิมพ์รายงานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเสียงดนตรีกับลักษณะบุคลิกภาพที่ดึงดูดใจนี้ โดยระบุว่าบทสนทนาแรกคือสิ่งสำคัญที่อาจเป็นปัจจัยบ่งชี้ได้ว่า อนาคตของคนคู่นี้จะยาวนานหรือไม่ แค่ไหน และว่าการมีเสียงดนตรีคลอไปด้วยระหว่างการเจอกันครั้งแรก สนทนาครั้งแรก หรือออกเดทครั้งแรก จะช่วยให้แต่ละฝ่ายเกิดความประทับใจกันและกันง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับการไม่มีเสียงดนตรี
รายงานชิ้นนี้ระบุว่า เสียงดนตรีจะช่วยกระตุ้นระบบประสาทในสมองระหว่างการสนทนาครั้งแรกระหว่างชายโสดและหญิงโสด ช่วยให้เกิดความประทับใจกันและกัน
นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นศึกษาเรื่องนี้โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 32 คน เป็นผู้ชาย 16 คน หญิง 16 คน อายุปราณ 20 ปี แล้วให้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดพบเจอกันแบบที่เรียกว่านัดบอด โดยกำหนดให้ครึ่งหนึ่งสนทนากันแบบมีเสียงดนตรีเปิดคลอไปด้วย ซึ่งมีทั้งเพลงร็อค เพลงแร็พ และเพลงคลาสสิค ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั่งคุยแบบไม่เสียงดนตรี จากนั้นให้สลับคู่สนทนาวนไปเรื่อยๆ
จากนั้นให้กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความประทับใจต่อบุคลิกภาพที่ชอบ 10 แบบ เช่น ความมั่นใจ ความอดทน ความเป็นคนเปิดเผยจริงใจ เป็นต้น นักวิจัยพบว่าคะแนนเฉลี่ยบุคลิกภาพน่าประทับใจ 10 แบบของกลุ่มที่เปิดเพลงระหว่างการสนทนา สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มที่ไม่เปิดเพลงอย่างเห็นได้ชัด
นักวิจัยญีปุ่นสรุปว่า เสียงเพลงหรือเสียงดนตรีช่วยเพิ่มระดับความรู้สึกประทับใจในอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อแรกพบได้จริง นอกจากนั้น เสียงดนตรียังอาจช่วยให้แต่ละฝ่ายมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เพื่อดึงดูดอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้นเช่นกัน
รายงานยังพบด้วยว่า แรงดึงดูดดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มขึ้นหรือเข้มข้นขึ้น หากใครคนใดคนหนึ่งได้เลือกเพลงที่ตนชอบด้วย
รายงานจาก Wall Street Journal / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล