ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยช่วยไขปริศนาว่าทำไมเสียงเพลงจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความทรงจำของคนเราได้


เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราจึงสามารถจดจำเนื้อเพลงบางเพลงได้อย่างแม่นยำไม่ผิดเพี้ยน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน? และทำไมบางครั้งเราจึงลืมรหัสบัตร ATM เพียงแค่ 4 ตัวเลขได้อย่างง่ายดาย?

นักวิทยาศาสตร์สงสัยเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะแม้แต่ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมขั้นสุดท้ายบางคนก็ยังสามารถจดจำเนื้อเพลงบาง่พลงที่คุ้นเคยได้ และสามารถร้องตามได้อย่างแม่นยำ ล่าสุดคณะนักวิจัยของภาควิชาจิตวิทยาที่ Washington University ในเมือง St. Louis นำโดยศาสตราจารย์ Henry Roediger III อธิบายเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะเสียงเพลงนั้นประกอบด้วยจังหวะและเนื้อร้องที่มีการสัมผัสอักษร จึงทำงานร่วมกันในการช่วยกระตุ้นศักยภาพของสมองส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัสและเนื้อเยื้อสมองส่วนหน้า ที่รับผิดชอบด้านการกระตุ้นและเรียบเรียงความทรงจำ ให้สามารถดึงความทรงจำต่างๆออกมาได้ง่ายขึ้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบางครั้งเราจึงไม่สามารถเอ่ยปากร้องเพลงใดออกมาได้ จนกว่าจะได้ยินจังหวะดนตรีเพลงนั้นขึ้นมาเสียก่อน

นักวิจัยชี้ว่าสมองส่วนที่ตอบสนองต่อเสียงเพลงนั้น วิวัฒนาการมาก่อนสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ด้านภาษา และนักวิจัยหลายคนยังเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาเสียงเพลง ดนตรีและการเต้นรำขึ้นมาเพื่อช่วยในการดึงข้อมูลบางอย่างออกจากความทรงจำ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของศาสตราจารย์ David Rubin แห่งมหาวิทยาลัย Duke ที่ชี้ว่า วรรณกรรมสำคัญของโลก เช่น มหากาพย์ Iliad และ Odyssey รวมทั้งนิยายพื้นบ้านหลายประเทศ ถูกถ่ายทอดต่อๆกันมาโดยใช้วิธีบอกเล่าผ่านบทกวีที่มีสัมผัสสระอักษร และจังหวะเหมือนเสียงเพลง เพื่อให้สามารถถ่ายทอดผ่านยุคสมัยต่างๆได้อย่างแม่นยำ

ศาสตราจารย์ Henry Roediger III สรุปว่ามนุษย์สามารถฝึกฝนพัฒนาสมองให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆและเรียกความทรงจำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการเรียนรู้ที่จะจดจำสิ่งต่างๆเป็นจังหวะดนตรี นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเด็กเล็กในอเมริกาแทบทุกคนจึงต้องถูกฝึกฝนให้จดจำอักษรภาษาอังกฤษเป็นจังหวะดนตรี

รายงานจาก Wall Street Journal / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG