ถือเป็นช่วงเวลาตั้งไข่สำหรับค่าย DC หลังจากเปิดตัวอย่างสวยงาม กับภาพยนตร์ฉายเดี่ยวของ Wonder Woman ซูเปอร์ฮีโร่หญิงสายสตรองแห่งค่าย DC Comic และพังไม่เป็นท่ากับภาพยนตร์รวมดาวอย่าง Justice League แต่หนึ่งในตัวละครที่สะดุดตาผู้ชม เห็นจะเป็นเจ้าสมุทรสุดกวน ที่ค่าย DC หยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฉายเดี่ยวกับ Aquaman ราชาแห่งอาณาจักรใต้ทะเลแอตแลนติส
Aquaman พาไปทำความรู้จักกับ Arthur ชายหนุ่มสุดห่ามที่เบื้องหลังของเขาลูกครึ่งมนุษย์ครึ่งชาวแอตแลนติส มีดีกรีเป็นว่าที่ราชาแห่งอาณาจักรแอตแลนติส ซึ่งเต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยใต้ท้องทะเล
Arthur ได้ล่วงรู้ว่า King Orm น้องชายต่างบิดาผู้กระหายสงคราม หวังจะก่อสงครามบนบก ด้วยการขึ้นครองบัลลังก์แอตแลนติส เขาจึงต้องหยุดยั้งน้องชายจอมแสบ ด้วยการตามหาตรีศูลที่หายสาบสูญ ด้วยความช่วยเหลือจาก มีร่า เจ้าหญิงจากอาณาจักรแอตแลนติส ที่ต้องช่วยกันกอบกู้บัลลังก์และปกป้องทั้งสองอาณาจักรนี้ให้ได้
ด้วยความปรัมปราและเนื้อหาจักรๆวงศ์ๆ สไตล์ช่วงชิงบัลลังก์แบบนี้ หลายคนคงนึกถึง เทพเจ้าสายฟ้า Thor และราชาเสือดำ Black Panther จากค่ายคู่แข่ง Marvel กันอยู่แน่นอน แต่เมื่อภาพยนตร์ตกอยู่ในมือของผู้กำกับ James Wan แห่งจักรวาลหนังผี Conjuring ยิ่งทำให้คนดูเกิดอาการงุนงงว่าภาพยนตร์จะออกมาในรูปแบบไหนกันแน่?
หลังจากรับชม Aquaman ต้องยอมรับว่า เป็นการเปิดประสบการณ์และเป็นช่วงเวลาปล่อยของ ของผู้กำกับมากความสามารถคนนี้ก็ว่าได้ เพราะความเป็นอิสระในอาณาจักร 7 คาบสมุทรของ James Wan ทำให้รู้สึกสนุก ตื่นตาตื่นใจ รู้สึกเหนือจินตนาการได้ตลอดทั้งเรื่อง แต่สำหรับบางคนอาจมองว่าดูหลอกตาไม่สมจริง แต่เพราะความไม่สมจริงนั้น ทำให้ผลักดันความคิดสร้างสรรค์ไปแบบไร้ขีดจำกัด
สำหรับตัวนักแสดงที่ DC เลือกไม่เจริญรอยตาม Marvel คือ ความน้อยแต่มาก ชูบทเด่นให้ Jason Mamoa ในบท Arthur พี่เบิ้มผู้ดูเกรี้ยวกราดไม่สนโลก แต่แท้จริงแล้วมีอ่อนโยน
ส่วน Amber Heard ในบท Mera สะกดสายตาคนดูมาตั้งแต่ยังไม่พูดอะไรสักคำ ผมแดงเพลิงในชุดเกล็ดปลานั้น ให้ความรู้สึกเหมือนแอเรียลใน Little Mermaid มาก แต่พอเข้าฉากบู๊ก็ทำได้เท่ห์ไม่แพ้ Mamoa
ส่วนเคมีตอนเข้าฉากเข้าพระเข้านางดูน่ารักน่าเอ็นดูไม่หวานเลี่ยนเหมือนซูเปอร์ฮีโร่สายราชวงศ์ของค่ายข้างๆ จะออกแนวลุยๆ บุกป่าฝ่าดงไปด้วยกัน ซึ่งดูเรียลและไม่ยัดเยียดความโรแมนซ์ให้ต้องเบือนหน้าหนีเหมือนซูเปอร์แมน
กลับมาที่บทกันบ้าง ดำเนินเรื่องเร็วในการทำความรู้จักกับตัวละคร แต่ไม่ได้ทำให้สับสนหรือต้องปูพื้นฐานก่อนชมแต่อย่างใด การสอดแทรกเนื้อหาทางสังคม เช่น ปัญหาระบบนิเวศน์ทางทะเลก็นำมาผูกเข้ากับเรื่องนี้พอประปรายเพื่อเพิ่มความจริงในเรื่องบ้าง และการถ่ายทอดความเป็นลูกครึ่ง หรือคนที่รู้สึกแปลกแยกกับคนในสังคม ซึ่ง Mamoa ทำได้ดีพอสมควร บทตลกพอกล้อมแกล้มให้หนังสนุกขึ้น และพระนางต่างเหมาะกับตลกหน้าตายทั้งคู่ ไม่ได้พยายามตลกโป๊งชึ่งแข่งกับใคร
โดยรวมแล้ว Aquaman สะท้อนถึงการตกผลึกทางความคิด การเรียนรู้จากความผิดพลาดของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ที่ผ่านๆมา การดึงตัวละครที่ยังไม่ดังมาก แต่มีสเน่ห์ในตัวเองขึ้นมานำเสนอ ทำให้คนเปิดใจให้คะแนนเจ้าสมุทรสุดกวนและราชินีสายลุยคู่นี้ได้ไม่ยาก
(บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ)