องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่ามีผู้คนมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกที่เข้าข่ายน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นภาวะที่มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงด้านสุขภาพมากมายตามมา
การศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อวันพฤหัสบดี อ้างอิงข้อมูลจากผู้คนกว่า 190 ประเทศทั่วโลก พบว่า ภาวะโรคอ้วนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมากกว่าภาวะน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศรายได้น้อยและปานกลางที่เคยมีภาวะขาดสารอาหารในก่อนในอดีต
การศึกษาพบว่า อัตราการเกิดโรคอ้วนในผู้ใหญ่ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงปี 1990-2022 และเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวในเด็กและวัยรุ่นอายุ 5-19 ปี ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานในเด็กและผู้ใหญ่ต่างลดลงราว 1 ใน 5 และ 1 ใน 3 ตามลำดับ
มาจิด เอซซาติ อาจารย์จาก Imperial College London ผู้เขียนการศึกษานี้ ระบุว่า “มีตัวเลขของผู้ที่ใช้ชีวิตในภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานในสัดส่วนที่มากขึ้น” และการเกิดโรคอ้วนในเด็กเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
ด้านฟรานเซสโก แบรนกา หัวหน้าฝ่ายโภชนาการของอนามัยโลก กล่าวว่า “ในอดีตเราอาจคิดว่าภาวะโรคอ้วนเป็นปัญหาของคนมีฐานะ แต่กลายเป็นโรคอ้วนเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว”
ทางผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ย้ำถึงการออกมาตรการ เช่น ภาษีสินค้าที่บรรจุน้ำตาล และการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในสถานศึกษา เพื่อจัดการปัญหาโรคอ้วนทั่วโลก รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน
แบรนกา และเอซซาติ ระบุว่า ยารักษาโรคอ้วนอย่าง วีโกวี (Wegovy), มูนจาโร (Mounjaro) และเซพบาวด์ (Zepbound) อาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยในเรื่องนี้ได้ แต่ต้นทุนของยาดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงยาเหล่านี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาดังกล่าวยังมีข้อจำกัดอยู่ รวมทั้งการขาดข้อมูลหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการใช้ตัวเลขดัชนีมวลกาย หรือ BMI ในการกำหนดค่าของภาวะโรคอ้วน ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ไม่สมบูรณ์แบบนักสำหรับนักวิจัย
- ที่มา: รอยเตอร์