Your browser doesn’t support HTML5
บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์เเละสารคดีมักใช้เสียงดนตรีแนวอิเลคทรอนิคส์ที่สร้างความรู้สึกลึกลับน่ากลัวประกอบในเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องราวในห้วงอวกาศ
เเต่ศาสตราจารย์ มาร์ค ไฮเออร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเเห่งรัฐเเมสสาชูเส็ทส์ กล่าวว่า ห้วงจักรวาลหรือกาแลคซี่ที่โลกเราเป็นส่วนหนึ่ง หรือทางช้างเผือก ก็มีเสียงแบบนี้
ศาสตราจารย์ไฮเออร์กล่าวว่า เขามีความคิดเกี่ยวกับเสียงเพลงแห่งห้วงอวกาศนี้มานานเเล้ว เเต่เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่งช่วยให้เขาสร้างเสียงเพลงแห่งอวกาศได้ โดยได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่แปลงสัญญาณจากอวกาศให้เป็นเสียงดนตรี
แสงที่เรามองเห็นได้มาจากดวงดาวต่างๆ ที่อยู่ไกลโพ้น เป็นตัวนำข้อมูลต่างๆ มายังโลกที่สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องมือสเปคโตรสโคป (spectroscope) ซึ่งเป็นอุปกรณ์แยกแสงออกเป็นช่วงคลื่นที่ชัดเจน และได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรืออัลกอริธึ่ม ขึ้นมาโปรแกรมหนึ่ง เพื่อแปลงการเคลื่อนไหวของกลุ่มอะตอมเเละโมเลกุลที่เกาะตัวกันอยู่เป็นกลุ่มๆ เหมือนกลุ่มเมฆ โดยมีองค์ประกอบเเละส่วนประกอบที่เเตกต่างกันให้กลายเป็นเสียงเพลง
ศาสตราจารย์ไฮเออร์กล่าวว่า ตนเองใช้ช่วงคลื่นที่เเยกได้เเละใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์เป็นตัวช่วยแปลงสัญญาณให้เป็นตัวโน้ตเพลง ใช้สเกลหลายสเกลเพื่อสร้างเสียงของช่วงคลื่นที่แตกต่างกันออกไป
เขาสุ่มใช้เครื่องดนตรีที่แตกต่างกันกับเเก๊สต่างชนิดกัน เพื่อแต่งออกมาเป็นเพลงที่รวมเข้าด้วยกันจากเสียงของเเซ็กโซโฟน เปียโน เครื่องดนตรีอัพไรท์เบส เเละเครื่องกระทบประเภทกรับ เเละใช้เสียงของเครื่องสายเล่นเป็นเสียงเพลงของแก๊สอะตอมหลายๆ ชนิดที่อยู่ในพื้นที่ว่างระหว่างดวงดาว
เขากล่าวว่า เสียงดนตรีนี้ให้ความรู้สึกเร้าใจ หลังการทดลองหลายครั้ง ศาสตราจารย์ไฮเออร์ตัดสินใจใช้สเกลไมเนอร์เพนทาโทนิคที่นิยมใช้ในการแต่งเพลงบลูส์
และเขารู้สึกประหลาดใจมากที่ค้นพบว่า เพลงบลูส์เเนวฟังค์กี้นี้ เหมาะเจาะที่จะเป็นเสียงเพลงจากห้วงจักรวาลมากที่สุด
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)