ปัจจุบันมีหลายประเทศที่เผชิญกับโรคระบาดที่มีแมลงเป็นพาหะ ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์ ขณะที่ทางแก้ปัญหามีเพียงการฉีดวัคซีนป้องกันและจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงที่เป็นพาหะ
แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อช่วยพยากรณ์โอกาสที่จะเกิดโรคระบาดครั้งต่อไปในแต่ละพื้นที่ได้แล้ว
อย่างกรณีของไข้ริฟต์แวลลีย์ ที่ระบาดในมนุษย์และสัตว์โดยมียุงเป็นพาหะ ยังคงกระทบกับผู้คนและปศุสัตว์ในทวีปแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับจนถึงปัจจุบัน โรคชนิดนี้ยังไม่มีแนวทางรักษาหากติดเชื้อ และหากอาการรุนแรงขึ้นผู้ป่วยมีโอกาสเป็นตายเท่ากัน
ทางเดียวที่หน่วยสาธารณสุขจะยับยั้งการระบาดได้ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันในปศุสัตว์เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค ทว่า การพยากรณ์จังหวะที่จะเกิดโรคระบาดนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
Assaf Anyamba นักวิทยาศาสตร์จาก Universities Space Research Association หรือ USRA ในประเทศเคนยา ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมมาช่วยในการสังเกตความผิดปกติในการแพร่ระบาดของโรคได้ และพบว่าไข้ริฟต์แวลลีย์ทางตะวันออกของแอฟริกานั้น มักจะระบาดในช่วงที่มีปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ที่มีสภาพอากาศเหมาะกับการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ
โครงการสังเกตการณ์นี้ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ศูนย์การบินอวกาศ Goddard องค์การอนามัยโลก และเครือข่ายระหว่างประเทศ โดยจะส่งข้อมูลรายเดือนที่ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดไปยัง 25 พื้นที่เสี่ยง
นอกจากไข้ริฟต์แวลลีย์แล้ว ยังมีข้อมูลการโรคระบาดที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไวรัสฮันตา ชิคุนคุนย่า และไข้เลือดออก
Assaf Anyamba ยังบอกด้วยว่า เราสามารถทำแผนที่ระบุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกแบบรายวัน เพื่อสังเกตความผิดปกติที่อาจนำไปสู่โรคระบาดได้
โครงการสังเกตการณ์โรคระบาด เป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศที่มีความเสี่ยงของโรคระบาด
รวมทั้งผู้ที่สนใจข้อมูลการพยากรณ์การเกิดโรคระบาดทั่วโลก ก็สามารถค้นหาข้อมูลนี้ผ่านทางเว็บไซต์ของ ศูนย์การแพทย์ การเกษตร และปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ