ถ้าพูดถึงดาวเทียม อาจนึกถึงการใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสารหรือการเก็บข้อมูลจากอวกาศมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ
แต่ตอนนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ใช้จุดเด่นของดาวเทียมในการสำรวจสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรและแหล่งน้ำทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะโลกร้อน
เราอาจเคยได้ยินว่า ปอดของโลก คือ ผืนป่า .. ทว่าแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนที่เราใช้หายใจกว่าครึ่งหนึ่งของโลกนั้น มาจากพืชขนาดเล็ก ที่เรียกว่า แพลงตอนพืช หรือ phytoplankton ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำลึกลงไปใต้มหาสมุทรที่แสงอาทิตย์เข้าไม่ถึง และไม่สามารถมองเห็นพวกมันได้ด้วยตาเปล่า
Ivona Cetinic นักสมุทรศาสตร์จาก USRA บอกว่า กระบวนการผลิตก๊าซออกซิเจนของแพลงตอนก็ไม่ต่างจากต้นไม้ พวกมันเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจนด้วยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
เพื่อเก็บข้อมูลของเหล่าแพลงตอนที่มีอยู่ราว 5 พันสายพันธุ์ทั่วโลกให้ได้มากที่สุดและดีที่สุดในตอนนี้ คือ การเก็บภาพที่ถ่ายจากอวกาศเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแพลงตอนทั่วโลก
Ivona อธิบายว่า สิ่งที่นักสมุทรศาสตร์ทำได้ คือสังเกตจากสีของมหาสมุทร ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมได้จำแนกความแตกต่างไว้ได้ และพบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในมหาสมุทร ได้ทำให้ปริมาณแพลงตอนบางชนิดเพิ่มขึ้นมากเกินไป จนสามารถปล่อยสารพิษในแหล่งน้ำได้
นักสมุทรศาสตร์จาก USRA บอกว่า ตอนนี้ปริมาณสารพิษจากแพลงตอนนั้นไม่ได้ร้ายแรงจนกระทบกับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำชนิดอื่นที่กินแพลงตอนเป็นอาหาร แต่นี่เป็นการส่งสัญญาณถึงปัญหาที่ใหญ่ขึ้นสำหรับสัตว์น้ำขนาดใหญ่ รวมถึงมนุษย์ที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารด้วย
อีก 5 ปีข้างหน้า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA เตรียมปล่อยดาวเทียมสำรวจโลกที่มีกล้องที่มีจำนวนและคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิมในการศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำทั่วโลก
แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ข้อมูลและการศึกษาที่ได้จากดาวเทียมทั้งหมดนี้ มีประโยชน์อย่างมากในการพิจารณาเรื่องการประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติ การปิดหาดเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล รวมทั้งการจับตาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่อแหล่งน้ำในอนาคต