ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงส่วนใหญ่เลี่ยงพูดถึงผลกระทบจากเขื่อนต่อสิ่งแวดล้อม

Laos' Prime Minister Thongloun Sisoulith speaks at the 10th Cambodia-Laos-Vietnam summit as part of the Greater Mekong Subregion Summit in Hanoi, Vietnam, March 31, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงส่วนใหญ่เลี่ยงพูดถึงผลกระทบจากเขื่อนต่อสิ่งแวดล้อม

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมส่งสัญญาณเตือนถึงปัญหาที่อาจจะตามมาจากการสร้างเขื่อน ที่การประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขง โดยกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ว่าผลกระทบต่อธรรมชาติเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัว

อย่างไรก็ตามมีเพียงผู้นำประเทศเวียดนามเท่านั้นที่เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในกลุ่มผู้นำ 4 ประเทศที่ร่วมใช้แม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงไทย

การประชุมสุดยอดของ Mekong River Commission ครั้งนี้ที่เมืองเสียมราฐ ในประเทศกัมพูชา เป็นเวทีแสดงผลการศึกษาที่ยาวนาน 6 ปี ความยาว 3,600 หน้า เกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำโขง

การศึกษาชิ้นนี้ยังได้รับการรับรองถึงความน่าเชื่อถือจากหน่วยงานของสหรัฐฯ U.S. Geological Survey

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหงียน ซวน ฟุก เรียกร้องให้มีมาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน และกล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดว่าระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมกำลังเสื่อมถอยลงไปอย่างรุนแรง

ส่วนนักวิทยาศาสตร์ต่างเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างการทำการเกษตรและใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เป็นทางเลือกแทนพลังน้ำ เช่น พลังงานลมและแสงอาทิตย์

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวเปิดงานโดยไม่ได้พูดถึงผลกระทบเชิงลบจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำเลย เขาได้แต่กล่าวถึงสิ่งท้าทายจากการเพิ่มจำนวนประชากร การพัฒนาที่รวดเร็ว และความต้องการน้ำ อาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน

นักข่าวยังได้จับตาสุนทรพจน์โดยนายทองลวน สีโซลิด นายกรัฐมนตรีลาว ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ที่โดนวิจารณ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้นำลาวกล่าวว่า ลาวจะทำตามคำมั่นและจะทำให้แน่ใจว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจะถูกก่อสร้างด้วยแนวทางที่ยั่งยืน

FILE - The Dachaoshan dam on the upper Mekong River is pictured in Dachaoshan, Yunnan province, China.

สำหรับนายกรัฐมนตรีไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า ผู้นำไทยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างเขื่อนเลย แต่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในการจัดการกับภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ และระบุว่า ไทยสามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาระบุว่าไทยอาจสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ปลามากถึงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2040

นักวิชาการระบุว่า หากโครงการเขื่อนบริเวณแม่น้ำโขง 11 แห่ง และบริเวณแม่น้ำสาขาของจีนอีกหลายแห่ง เดินหน้าต่อไป ปลาเนื้อขาวอาจจะไม่มีให้เห็นต่อไปในประเทศไทยและลาว ในอีก 22 ปีจากนี้

และแม้ว่าจะมีการยกถึงประโยชน์จากการขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนเหล่านี้ แต่ปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อแหล่งทางเลือกเหล่านี้สามารถผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ David Boyle และ Sun Narin จากเสียมราฐ)