Stimson Center สถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน เปิดเผยในรายงานของทางศูนย์ว่า ชาติต่างๆ ในลุ่มเเม่น้ำโขงมีโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจเเละทางเทคโนโลยีมากขึ้น ในการปรับปรุงเเละเพื่อเพิ่มความหลากหลายด้านแหล่งพลังงานในการผลิตกระเเสไฟฟ้า
Brian Eyler ผู้ร่วมร่างรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า จะเป็นเรื่องที่ดีมากหากรัฐบาลของชาติลุ่มน้ำโขงชาติต่างๆ ทบทวนแผนพัฒนาพลังงานหลักของชาติตนเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสดังกล่าวข้างต้น
Eyler กล่าวว่าตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีที่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงควรหยุดพักแผนการพัฒนาพลังงานปัจจุบันเอาไว้ชั่วคราว เพื่อศึกษาดูว่ามีทางเลือกอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจบ้าง
Courtney Weatherby ผู้ร่วมร่างรายงานอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่างในปัจจุบันช่วยลดผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อมเเละทางสังคมลง เเละเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระเเสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ เเละโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โดยเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า
เธอกล่าวย้ำว่า เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเเสงอาทิตย์และพลังงานลมมีราคาค่าลงทุนที่ถูกลงอย่างมากเเละมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะถูกกว่ากระเเสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังน้ำที่ได้จากเขื่อนที่หลายชาติกำลังวางแผนที่จะสร้างกั้นบนเเม่น้ำโขง เเละเเม่น้ำสายย่อยอื่นๆ ที่ไหลลงสู่ของเเม่น้ำโขง
Weatherby กล่าวว่า หากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ราคาค่าลงทุนผลิตกระเเสไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์อยู่ที่ 6 เซ็นต์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ การสร้างเขื่อนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมก็จะไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาที่ค่าลงทุนมหาศาลในการสร้างเขื่อนประกอบด้วย
เเต่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำเพียงพอเเก่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในกัมพูชาแค่กึ่งหนึ่งเท่านั้น
เสา โสเพียบ โฆษกแห่งกระทรวงสิ่งเเวดล้อมกัมพูชา กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาจัดทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งเเวดล้อมจากการสร้างเขื่อน เเละจะแก้ไขผลกระทบทางลบจากการสร้างเขื่อนด้วย เขากล่าวว่าไฟฟ้าสามารถผลิตได้จากหลายแหล่งเ เละพลังงานน้ำจากเขื่อนเป็นพลังงานหมุนเวียนที่กัมพูชามีศักยภาพที่จะผลิตได้
เเม้ว่ารัฐบาลกัมพูชาจะเน้นการผลิตกระเเสไฟฟ้าจากพลังน้ำที่ได้จากเขื่อน โครงการพลังงานทางเลือกหลายโครงการในประเทศก็กำลังขยายตัวเพราะได้รับเงินสนับสนุนจากผู้บริจาค เเละประชาชนในเขตชนบทก็เริ่มตื่นตัวกับเทคโนโลยีผลิตกระเเสไฟฟ้าจากพลังงานเเสงอาทิตย์กันมากขึ้น
อิน โบอี อายุ 65 ปี เป็นหนึ่งในประชาชนชาวกัมพูชาหลายพันคนที่ติดตั้งเเผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระเเสไฟฟ้าไว้ใช้เองในครัวเรือน เขากล่าวว่า คนในหมู่บ้านรอใช้ไฟฟ้าจากรัฐบาลมานานมากจนทนไม่ไหว ตนเองได้ตัดสินใจซื้อแผงโซลาร์เซลล์มาใช้
ทีมผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ในขณะที่กัมพูชาและประเทศอื่นๆ ในลุ่มเเม่น้ำโขงหาทางเพิ่มเเหล่งพลังงานเพื่อผลิตกระเเสไฟฟ้าเเละการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เเละเพิ่มการลงทุนในเพิ่มการผลิตกระเเสไฟฟ้าระดับชาติให้สูงขึ้น ประเทศเหล่านี้ยังมีโอกาสในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดส่งกระเเสไฟฟ้า เพิ่มการค้าขายไฟฟ้าข้ามชายเเดน เละขยายบริการไปยังเขตชนบทห่างไกลอีกด้วย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)