Your browser doesn’t support HTML5
ตามลำน้ำเเม่โขง การพัฒนาเเละการค้าได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแก่คนจำนวนมากที่อาศัยตามเเนวชายฝั่งของเเม่น้ำแห่งนี้
มนัส สุทธาวงศ์ ชาวประมงไทยในพื้นที่มีรายได้ลดลงเพราะผลกระทบทางลบจากการสร้างเขื่อนพลังน้ำ 7 แห่งของจีน บนลำแม่น้ำโขงทางตอนบนในส่วนที่ไหลผ่านจีน ซึ่งควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลลงมาตอนล่างของแม่น้ำเเละส่งผลกระทบต่อจำนวนปลา
มนัส กล่าวว่า ในอดีตเคยจับปลาตัวใหญ่ได้ในจำนวนมาก แต่เดี่ยวนี้มีปลาตัวใหญ่ให้จับน้อยลง
แม้ว่าจะมีถนนไฮเวย์สายหลักหลายสายที่เชื่อมประเทศต่างๆ อยู่แล้ว เเต่จีนยืนยันที่จะขยายร่องน้ำโขง โดยจะใช้ระเบิดเพื่อทำลายเกาะเแก่ง ก้อนหินเเละเนินทรายตามลำน้ำ
เมื่อปีที่แล้ว บรรดานักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมออกมาประท้วง จนทำให้จีนต้องพักแผนระเบิดลำน้ำนี้ไปก่อน แต่บรรดานักอนุรักษ์กังวลว่าจีนจะเดินหน้าแผนขยายร่องน้ำโขงนี้ เเม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชี้ว่าจะเกิดผลกระทบต่อจุดขยายพันธุ์ปลาเเละพื้นที่ทำการเกษตรตามเเนวชายฝั่งเเม่น้ำก็ตาม
นิวัติ ร้อยเเก้ว ประธานกลุ่มรักเชียงของ กล่าวว่า จีนกำลังขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของจีนในการควบคุมและขยายอำนาจ ผ่านโครงการ "หนึ่งถนนหนึ่งวงแหวน" เพื่อควบคุมเศรษฐกิจโลก และจีนมุ่งเอาผลประโยชน์เข้าฝ่ายตนเองทุกอย่าง
แม้จะมีเเรงต่อต้าน บรรดานักธุรกิจท้องถิ่นหลายกลุ่มมองว่า การขยายร่องน้ำโขงจะเป็นโอกาสทางการท่องแที่ยวที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน
ที่สามเหลี่ยมทองคำในส่วนที่อยู่ในประเทศไทย ท่าเรือขนส่งสินค้าที่เชียงเเสน จังหวัดเชียงราย อาจจะกลายเป็นศูนย์การเดินทางของนักท่องเที่ยวหากโครงการของจีนเดินหน้า ทำให้ชาวไทยในพื้นที่จำนวนหนึ่งสนับสนุนโครงการนี้
สิทธัฐ นรสิงห์ ผู้จัดการท่าเรือเชียงเเสน กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว ตนเองอยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น ควรทำไปเลยเพื่อขยายเเม่น้ำให้กว้างขึ้น แม้หลายคนกังวลว่าหากขยายแม่น้ำให้กว้างขึ้น เรือจีนจะแล่นผ่านเชียงเเสนโดยไม่เเวะจอด เเละจะไปซื้อสินค้าในประเทศอื่นแทน ซึ่งไม่เป็นความจริง
กระทรวงการต่างประเทศของจีน ชี้ว่า โครงการเหล่านี้จะเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย เเต่หลายคนกำลังสงสัยกันว่า โครงการนี้อาจจะไม่คุ้มค่า หากนำมาซึ่งผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อมที่ตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)