ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พลังงานเเสงอาทิตย์เเละลม ปัจจัยท้าทายโครงการเขื่อนของ 'ชาติลุ่มน้ำโขง'


FILE - The Dachaoshan dam on the upper Mekong River is pictured in Dachaoshan, Yunnan province, China.
FILE - The Dachaoshan dam on the upper Mekong River is pictured in Dachaoshan, Yunnan province, China.

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวในที่ประชุมเกี่ยวกับน้ำครั้งสำคัญเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีการเซ็นสัญญาหลายฉบับเพื่อผลิตกระเเสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ปริมาณหลายพันเมกะวัตต์ในภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขง ท้าทายความคุ้มทุนของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากเขื่อนใหญ่ๆ ในพื้นที่หลายโครงการด้วยกัน

การตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการชะลอข้อตกลงซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนบนเเม่น้ำโขง สร้างกำลังใจแก่บรรดากลุ่มผู้สนับสนุนพลังงานสะอาด เเละบรรดานักเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวต่อการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงครั้งที่ 3 ว่าตลาดพลังงานในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยี

ไบรอัน ไอเลอร์ (Brian Eyler) ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์สติมสัน (Stimson Center 's Southeast Asia Program) กล่าวว่า มีการตกลงผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเเละแสงอาทิตย์ รวมปริมาณ 6,000 เมกะวัตต์ในกัมพูชา เวียดนาม ไทย เเละลาว ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา

เขากล่าวว่า ในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2560 ทีมงานของเขาได้ไปเยี่ยมโรงงานผลิตไฟฟ้าของกัมพูชา ที่เสนอว่าจะรวมเอาพลังงานลมเเละแสงอาทิตย์เข้าไว้ในแผนพัฒนาด้านการผลิตไฟฟ้า

เเละภายในเวลาหนึ่งปี กัมพูชาได้ปรับโครงสร้างทั้งหมดของภาคพลังงาน เพื่อพัฒนากฏระเบียบใหม่ที่จะส่งเสริมการผลิตกระเเสไฟฟ้าจากพลังงานเเสงอาทิตย์ในประเทศ เเละหากกัมพูชากำลังลงมือทำเรื่องนี้ ก็รับรองได้ว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะเจริญรอยตามเช่นกัน

ฮุนจุง ลี (Hyunjung Lee) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านพลังงาน ฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ ADB กล่าวว่า เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและเเสงอาทิตย์กำลังจะได้รับความนิยมอย่างมากในภูมิภาค

เธอกล่าวว่า บรรยากาศในภูมิภาคได้เปลี่ยนไปในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยได้เห็นความสนใจในการผลิตไฟฟ้าจากเเสงอาทิตย์เเละลมมากขึ้น

ลี กล่าวว่า ธนาคาร ADB กำลังมองหาลู่ทางในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านพลังงานระดับภูมิภาค (Regional Power Coordination Centre) ที่เลียนเเบบโครงการในแอฟริกาใต้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการสร้างตลาดพลังงานระดับภูมิภาคแบบองค์รวมที่มีประสิทธิภาพ

คณะกรรมาธิการศึกษาแผนพัฒนาเเม่โขง ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้ ได้ชี้ว่า สภาพของเเม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบรุนแรง หากมีการก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขง 11 แห่ง เเละกว่า 100 แห่งบนเเม่น้ำสาขาตามแผนที่วางไว้

ในรายงานที่เปิดเผยในเดือนมกราคม หน่วยงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency) พบว่า ราคาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ลดลงราว 73 เปอร์เซ็นต์ จากปี พ.ศ. 2553 ถึง 2560 เเละได้พยากรณ์ว่าจะลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2563

หากเป็นไปตามความคาดหมายด้านราคาที่จะลดลงนี้ ราคาของไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานเเสงอาทิตย์จะลดลงต่ำกว่าไฟฟ้าพลังงานน้ำภายในปี พ.ศ. 2563 นานก่อนหน้าที่เขื่อนซึ่งจะสร้างบนเเม่น้ำโขงจะเริ่มผลิตกระเเสไฟฟ้าเสียอีก

ในระดับทั่วโลก ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์ได้เพิ่มขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ และผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 94 กิกกะวัตต์ส ในปี 2560 ที่ผ่านมา

หน่วยงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ สำรวจพบว่า การผลิตพลังงานหมุนเวียนเเละพลังงานแสงอาทิตย์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในเอเชีย เร็วกว่าที่ใดๆ ในโลก ในขณะที่มีการผลิตกระเเสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี

เจค บรูนเนอร์ (Jake Brunner) ผู้ประสานงานโครงการ แห่งสมาพันธ์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ (International Union for Conservation of Nature) กล่าวว่า ค่าลงทุนที่ถูกลงของการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น่าดึงดูดใจมากในกัมพูชา เนื่องจากที่ดินยังมีราคาค่อนข้างถูก ในขณะที่ความต้องการใช้พลังงานในเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG