แถลงการณ์ในวันพฤหัสบดีของเบน คาร์ดิน ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ แสดงความกังวลถึงคดียุบพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักการเมืองในกรุงวอชิงตันพูดถึงประเด็นอ่อนไหวในไทย และที่ผ่านมาก็ได้รับแรงปฏิกิริยาตลอด
จากแถลงการณ์ที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ X ของ กมธ. คาร์ดินเรียกร้องให้ไทย “คงไว้ซึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจต่อคุณค่าประชาธิปไตยที่พวกเรามีร่วมกัน” และขอให้ภาครัฐดำเนินการบนหลักนิติรัฐและกฎหมาย รวมถึงเคารพเสียงประชาชนที่ลงคะแนนให้ผู้แทนพรรคก้าวไกลจนได้ที่นั่งในสภามากที่สุด
โพสท์บนช่องทางของ กมธ. มีทั้งความเห็นจากผู้ใช้งานทั้งในทางที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น ผู้ใช้งานที่ใช้ชื่อ Gevv โพสท์ความเห็นว่า“ขอบคุณวุฒิสมาชิกคาร์ดินสำหรับความมุ่งมั่นในคุณค่าประชาธิปไตย และยังเห็นไทยอยู่ในเรดาร์ของคุณ”
หรือ ผู้ใช้งานที่ Phat 3951 ที่บอกว่า “อย่ามายุ่งกิจการภายในของไทยดีกว่า ถ้าไอ้ก้าวใกลไม่หมกมุ่น112 พิธาเป็นนายกไปนานแล้ว”
ศาลรัฐธรรมนูญกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาความตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณียื่นยุบพรรคก้าวไกล จากการมีนโยบายพูดถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งว่าการทำเช่นนั้นถือเป็นการบ่อนทำลายการปกครองของไทย และให้หยุดการกระทำดังกล่าว
หากถูกตัดสินว่ามีความผิด พรรคก้าวไกลอาจมีโทษถึงการถูกยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองแก่กรรมการบริหารพรรคอีก 10 ปี
ม.112 ที่มีโทษจำคุก 3-15 ปี ต่อผู้ที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการ ถูกตั้งคำถามจากประชาคมนานาชาติรวมถึงสหรัฐฯ อยู่บ่อยครั้งในเรื่องปัญหาของการตีความความผิด และกระบวนการดำเนินคดีที่มีความอ่อนไหวตามบรรยากาศทางการเมือง
Your browser doesn’t support HTML5
ในปี 2566 ซูซาน ไวลด์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครต เสนอมติต่อรัฐสภา เรียกร้องถึงรัฐบาลไทยให้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่คุกคามผู้แสดงออกทางการเมือง ถอนคดีความของนักเคลื่อนไหว และให้สหรัฐฯ มีท่าทีว่า หากกองทัพและสถาบันกษัตริย์ของไทยแทรกแซงการเมืองหลังการเลือกตั้ง จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
ท่าทีของ ส.ส.ไวลด์ ตามมาด้วยการเข้ายื่นหนังสือที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย โดยเครือข่ายกลุ่มที่มีแนวทางนิยมสถาบันกษัตริย์ เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของไทย ตามการรายงานของประชาไท
ในปี 2558 เกล็น เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยให้ความเห็นในเวทีที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างชาติประจำประเทศไทย (FCCT) แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดี ม.112 ในช่วงเวลานั้น
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า ถ้อยแถลงของเดวีส์นำมาซึ่งการยื่นหนังสือต่อตำรวจโดยสนธิญา สวัสดี ให้สืบสวนการกระทำของเดวีส์ และมีกลุ่มคนไปชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตด้วย
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า สถิติตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 - 10 พฤษภาคม 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีจาก ม.112 จากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 272 คนใน 303 คดี