Your browser doesn’t support HTML5
การจัดการปัญหาขยะในเลบานอน ได้สร้างความวิตกกังวลถึงปัญหาสุขภาพของผู้คนที่นั่นเป็นอย่างมาก หลังจากมีรายงานฉบับล่าสุดของ Human Rights Watch ที่เปิดเผยว่า เริ่มมีชาวเลบานอนล้มป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและผิวหนัง ที่มีต้นตอจากการรับสารพิษจากการเผาขยะจำนวนมหาศาลทุกวัน
ผ่านมากว่า 2 ปีหลังการประท้วง ‘You Stink’ ที่ชาวเลบานอนลุกฮือประท้วงกลางกรุงเบรุต เพื่อเร่งเร้าให้รัฐบาลเลบานอน หาทางจัดการกับปัญหาขยะที่เข้าขั้นวิกฤตในเมืองหลวง
แต่จนถึงวันนี้ ภูเขาขยะจำนวนมหาศาลไม่ได้มีแค่ในกรุงเบรุตอีกต่อไป แต่กลับขยับขยายไปยังชุมชนแออัดและพื้นที่ห่างไกลทั่วเลบานอน
รายงานจาก Human Rights Watch ที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานดับเพลิงของเลบานอน ที่รายงานว่า แรงกดดันของชาวเลบานอนในการจัดการปัญหาขยะในประเทศยังไม่สัมฤทธิ์ผล และมีการเผาขยะกลางแจ้งเกิดขึ้นมากกว่า 3,612 ครั้งที่กรุงเบรุตและปริมณฑล และยังมีการเผาขยะมากกว่า 814 ครั้งในพื้นที่อื่นๆทั่วเลบานอน
ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเลบานอนและข้อมูลจาก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ยืนยันว่าการแก้ปัญหาขยะของเลบานอน ยังย่ำอยู่กับที่ โดยการสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ระบุว่า มีพื้นที่ทิ้งขยะกลางแจ้งในเลบานอนทั้งสิ้น 941 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้น 271 จุดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น ในจำนวนนี้จะมีการเผาขยะเกิดขึ้นราว 150 จุด ทุกๆวันทั่วเลบานอน
ในการสำรวจล่าสุดของ Human Rights Watch สอบถามชาวเลบานอนในพื้นที่ใกล้จุดเผาขยะ และพบว่ามีผู้คนจำนวนมากประสบปัญหาด้านสุขภาพ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเผาขยะที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง และการได้ยิน
Farouk Merhebi ผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัย American University ในกรุงเบรุต แสดงความกังวลว่า ชาวเลบานอนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งมีการเผาขยะพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ มีโอกาสสูดดมสารก่อมะเร็งเข้าไปสะสมในร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้นกว่าเดิม
Bassam Khawaja นักวิจัยของ Human Rights Watch ทิ้งท้ายไว้ว่า วิกฤตขยะในเลบานอน คือ ภัยเงียบมาหลายทศวรรษ แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจ และที่ผ่านมารัฐบาลกลางและท้องถิ่นไม่ได้จัดสรรงบประมาณและนโยบายในการบริหารจัดการขยะที่เหมาะสม
ก่อนหน้านี้ เลบานอนเคยได้รับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป 89 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการบริการจัดการขยะ ในระยะเวลา 15 ปี แต่กลับไม่มีการแก้ปัญหาหรือปรับปรุงใดๆเกิดขึ้นเลย