เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้สื่อข่าวอย่างน้อยสามรายในประเทศไทยถูกตำรวจเข้าพบเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการรายงานข่าวในประเด็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาล โดยนักวิเคราะห์มองว่า ท่าทีของตำรวจครั้งนี้เป็นความพยายามคุกคามสื่อ
ผู้สื่อข่าวทั้งสามได้แก่นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี, นายสุรเมธ น้อยอุบล ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ Friends Talk และ “แอดมินนินจา” ผู้สื่อข่าวในกลุ่มเฟซบุ๊กข่าว Live Real
นายศิโรตม์ ผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พรบ. สถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อปีพ.ศ. 2563 กล่าวกับวีโอเอว่า ตำรวจมาหาเขาที่บ้านเมื่อวันที่ 17 มกราคม แต่เขาไม่อยู่บ้าน ก่อนจะค้นหาเขาและขอถ่ายรูปครอบครัวของเขา นายศิโรตม์ยังเผยแพร่เอกสารทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่าเขาเป็นบุคคลที่ตำรวจ “จับตามอง” แต่ทางตำรวจไม่สามารถให้คำอธิบายแก่เขาอย่างชัดเจนได้
ทางด้านนายสุรเมธแจ้งความหลังเจ้าหน้าที่สองรายพูดคุยกับพ่อของเขาและกล่าวหาว่า เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ตามรายงานของสำนักข่าว ไทย เอนไควเรอร์ ทางด้าน “แอดมินนินจา” ก็ระบุว่า ตำรวจมาหาที่บ้านของเขาเช่นกัน
พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า รัฐบาลพยายามปิดปากสื่อขนาดเล็กที่รายงานประเด็นต้องห้ามในไทย
อาจารย์พรรษาสิริกล่าวกับวีโอเอทางอีเมล์ว่า ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวออนไลน์ขนาดเล็กยังคงรายงานเกี่ยวกับการประท้วงและประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเคยยื่นคำร้องขอออกคำสั่งเพื่อปิดเว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์บางแห่ง แต่ศาลไม่อนุมัติคำสั่งดังกล่าว
นักวิชาการผู้นี้ยังเชื่อด้วยว่า การบุกรุกของตำรวจเกิดบ่อยขึ้นในยุครัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้การแทรกแซงและคุกคามสื่อจะ “ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่” ในไทย
ทางด้านพันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับวีโอเอว่า ทางตำรวจไม่ต้องการคุกคามหรือทำให้ผู้สื่อข่าวตกอยู่ในอันตรายแต่อย่างใด และหากตำรวจมีรายชื่อบุคคลที่ต้องการตัว จะต้องมีหลักฐานว่า บุคคลที่ปรากฎในรายชื่อได้ละเมิดกฎหมายไทยจริง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ 30 นาย บุกค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยหนังสือพิมพ์บางกอก โพสต์ รายงานว่า ตำรวจต้องการหาหนังสือที่อาจเผยแพร่บทความเกี่ยวกับการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของไทย โดยทางตำรวจไม่พบหนังสือเล่มดังกล่าว แต่ยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ของนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการของนิตยสารฟ้าเดียวกัน
รองโฆษกตำรวจระบุว่า การบุกค้นสำนักพิมพ์ครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย โดยทางตำรวจแสดงหลักฐานแก่ศาลก่อนที่ศาลจะออกหมายค้น โดยหากตำรวจสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกิจกรรมผิดกฎหมายและเป็นภัยต่อความมั่นคง ทางตำรวจจำเป็นต้องดำเนินขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ที่ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลายรายเผชิญข้อกล่าวหาต่าง ๆ รวมทั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีกำหนดโทษจำคุกผู้หมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ เป็นการจำคุกไม่เกิน 15 ปี
อาจารย์พรรษาสิริระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นเหตุผลให้ผู้สื่อข่าวระมัดระวังอย่างมากในการทำข่าวประเด็นการเมืองที่อ่อนไหว และเป็นการปิดกั้นผู้สื่อข่าวจากการสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจช่วยอธิบายและยกระดับการอภิปรายถึงปัญหาและนโยบายที่มีผลต่อสาธารณชนส่วนใหญ่ได้
องค์กรติดตามสื่อ Reporters Without Borders หรือ RSF ระบุว่า กฎหมายดังกล่าว เป็น “เครื่องมือป้องปรามสำคัญต่อผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ที่เห็นต่าง” โดยดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปีของ RSF จัดอันดับเสรีภาพสื่อในไทย อยู่ในอันดับที่ 137 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
- รายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอ ทอมมี วอล์กเกอร์ (Tommy Walker)