วิเคราะห์: ทิศทางนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ หลัง "ทรัมป์" ตั้งที่ปรึกษาสายเหยี่ยว!

FILE - Former U.S. Ambassador to the UN John Bolton

เสียงตอบรับจากต่างชาติ – ท่าทีนักวิเคราะห์ จากกรณีแต่งตั้ง “จอห์น โบลตัน” เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่

Your browser doesn’t support HTML5

วิเคราะห์: ทิศทางนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ หลัง "ทรัมป์" ตั้งที่ปรึกษาสายเหยี่ยว!

หลังจากที่ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกนายจอห์น โบลตัน เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงคนใหม่ ได้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์และการตอบสนองในหมู่นักวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศ และอดีตนักการทูต ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ยอมรับและที่ไม่เห็นด้วย

แต่ดูเหมือนอย่างหนึ่งที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน คือคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติชุดใหม่ของ ปธน.ทรัมป์ ถือเป็นผู้ที่นิยมแนวทางแข็งกร้าวมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นายจอห์น โบลตัน (John Bolton) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่ ที่จะมาแทนพลโท เอช อาร์ แม็คมาสเตอร์ (H.R. McMaster) เคยเป็นอดีตทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่ง รองรัฐมนตรีต่างประเทศ ฝ่ายกิจการควบคุมอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศ

เขาเคยสนับสนุนให้กองทัพสหรัฐฯ บุกอิรักเมื่อปี ค.ศ. 2002 และเมื่อเดือนที่แล้ว นายโบลตันเคยขอให้มีการชิงโจมตีเกาหลีเหนือก่อน เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้เวลานานเกินไปในการเจรจาทางการทูตกับกรุงเปียงยาง

นายโบลตันกล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ควรรอจนถึงนาทีสุดท้ายในการโจมตีเปียงยาง เพราะหากเกาหลีเหนือสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ก่อน จะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบผู้นำของเกาหลีเหนือและอิหร่าน เพื่อกำจัดภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์จากทั้งสองประเทศนั้นด้วย

และว่า ข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาทำไว้กับรัฐบาลอิหร่านนั้น เป็นความผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯ เพราะจะไม่ทำให้อิหร่านยอมล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศต่างเห็นตรงกันว่า นายโบลตันคือนักการทูต "สายเหยี่ยว" ผู้นิยมแนวทางแข็งกร้าวทางทหารมากกว่าการเจรจาทางการทูต ซึ่งตรงข้ามกับ พลโท เอช อาร์ แม็คมาสเตอร์ ผู้ที่เขาเข้ามาแทนที่

และเชื่อว่านั่นอาจเป็นเหตุผลที่ ปธน.ทรัมป์ เลือกนายโบลตัน

นายมาร์ค ซิมาคอฟสกี้ จาก Atlantic Council เชื่อว่า ปธน.ทรัมป์ ชื่นชมนายโบลตันที่มีนโยบายแข็งกร้าวกับอิหร่านและเกาหลีเหนือเหมือนกัน และสอดคล้องกับนโยบาย “อเมริกามาก่อน” ซึ่ง ปธน.ทรัมป์ พยายามผลักดัน แต่ถูกทัดทานจากที่ปรึกษาคนก่อนๆ

ด้านคุณเอมม่า แอชฟอร์ด จากสถาบัน CATO เชื่อว่า ข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ไม่น่าจะได้ไปต่อ อย่างน้อยเมื่อมองในมุมของรัฐบาลสหรัฐฯ

สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับรัสเซีย คุณแฮรี คาซิแอนเนียส (Harry Kazianias) แห่ง The Center for National Interest เชื่อว่า นายจอห์น โบลตัน จะเป็นฝันร้ายของรัสเซีย เพราะเขาเป็นผู้มีนโยบายแข็งกร้าวต่อรัสเซียมาตลอด

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้บอกว่าน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศบางอย่างที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งอาจรวมถึงการอนุมัติให้ขายอาวุธให้กับยูเครน

สำหรับการตอบสนองของพันธมิตรของสหรัฐฯ หลังจากที่ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกนายจอห์น โบลตัน เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงคนใหม่ ดูเหมือนทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ยังคงแสดงท่าทีนิ่งเฉย เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ แม้ในอดีตนั้น รัฐบาลกรุงเปียงยางเคยเรียกนายโบลตันว่า “คนชั้นต่ำ และผู้กระหายเลือด” ก็ตาม

ด้านศาสตราจารย์โรเบิร์ต เคลลี (Robert Kelly) แห่ง Pusan National University ในเกาหลีใต้ ชี้ว่า การแต่งตั้งนายโบลตัน อาจหมายความว่า แผนการประชุมสุดยอดระหว่าง ปธน.ทรัมป์ กับผู้นำคิม จอง อึน อาจจะไม่เกิดขึ้น

และมีความเป็นไปได้ที่นายโบลตันอาจแนะนำให้ ปธน.ทรัมป์ สั่งการโจมตีทางอากาศใส่เกาหลีเหนือ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามบนคาบสมุทรเกาหลีก็เป็นได้

(ผู้สื่อข่าว Cindy Saine รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)