ญี่ปุ่นเรียกทูตจีนเข้าพบ กรณีชาวจีนรุมโทรข่มขู่ปมน้ำเสียฟุกุชิมา

  • AFP

ชาวฮ่องกงประท้วงแผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาลงสู่ทะเล 

ทางการญี่ปุ่นเรียกตัวเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงโตเกียวเข้าพบในวันจันทร์ เพื่อประท้วงเหตุการณ์ที่มีชาวจีนจำนวนมากรุมโทรศัพท์ไปยังบริษัทและร้านค้าในญี่ปุ่นหลายแห่ง สืบเนื่องจากโครงการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาลงสู่ทะเล

รองรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น มาซาตากะ โอกาโน กล่าวกับทูตจีน หวู เจียงหาว ว่าทางการจีนควรแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างถูกต้อง "แทนที่จะสร้างความกังวลในหมู่ประชาชนโดยไม่จำเป็น ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่อยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนประกาศใช้มาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทุกประเภท หลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำที่ใช้ในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาซึ่งได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิและแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011

ตั้งแต่นั้น ธุรกิจต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ รายงานว่าได้รับโทรศัพท์หลายพันครั้งจากหมายเลขที่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ และหลายครั้งที่ถูกข่มขู่คุกคามจากต้นสายโทรศัพท์

ภาพถ่ายทางอากาศของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมา ไดอิจิ

รองรัฐมนตรีโอกาโน กล่าวกับทูตจีนว่า "ตั้งแต่เริ่มมีการปล่อยน้ำเสีย มีโทรศัพท์เข้ามาจำนวนมากรวมถึงการละเมิดในรูปแบบอื่น ๆ ที่คาดว่ามีต้นทางมาจากจีน" และว่า "เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันยังเกิดขึ้นกับธุรกิจต่าง ๆ ของชาวญี่ปุ่นในประเทศจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจและน่ากังวลอย่างยิ่ง"

เมื่อวันอาทิตย์ สถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงปักกิ่งมีประกาศเตือนประชาชนของตนที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนให้ระวังภัยและอย่าแสดงตัวโจ่งแจ้งว่าเป็นคนญี่ปุ่น

ต่อมาในวันจันทร์ สถานทูตญี่ปุ่นแจ้งว่าได้มีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยตามโรงเรียนญี่ปุ่นและภารกิจด้านการทูตของญี่ปุ่นในจีนแล้วเช่นกัน หลังจากมีรายงานจากสื่อญี่ปุ่นว่า มีการปาก้อนหินและไข่ใส่โรงเรียนญี่ปุ่นในประเทศจีนหลายแห่ง

ชาวเกาหลีใต้ในกรุงโซล เดินขบวนต่อต้านการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาลงสู่ทะเล

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาปริมาณมากกว่าความจุของสระว่ายน้ำโอลิมปิก 500 แห่ง ลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่จีน เกาหลีใต้ และประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก ที่แสดงความกังวลต่ออันตรายในระยะยาวจากกัมมันตรังสี ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสัตว์น้ำต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นและสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ต่างยืนยันว่านำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวมีความปลอดภัย และในวันอาทิตย์ รัฐบาลกรุงโตเกียวเผยแพร่ข้อมูลการตรวจสอบที่ชี้ให้เห็นว่า น้ำทะเลบริเวณโรงไฟฟ้าฟุกุชิมายังคงมีกัมมันตรังสีอยู่ในระดับปลอดภัย

  • ที่มา: เอเอฟพี