ญี่ปุ่นเปิดเผยในวันอังคารว่า จะเริ่มทำการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ได้รับการบำบัดเพื่อกำจัดสารกัมมันตรังสีแล้วปริมาณกว่า 1 ล้านตันลงสู่มหาสมุทรในสัปดาห์นี้แล้ว แม้แผนการดังกล่าวจะถูกจีนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็ตาม จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติแผนงานดังกล่าวตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน โดยระบุว่า เป็นขั้นตอนสำคัญในการปลดประจำการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท Tokyo Electric Power Company (Tepco) แต่กลุ่มธุรกิจประมงในประเทศก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากกลัวว่า แผนงานนี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผลผลิตของญี่ปุ่น
นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ประกาศในวันอังคารว่า ตนคาดว่า กระบวนการปล่อยน้ำนั้นจะเริ่มต้นในวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม ถ้าหากสภาพอากาศเป็นใจ
รอยเตอร์ระบุว่า ผู้นำญี่ปุ่นเดินหน้าประกาศแผนงานนี้ออกมาหนึ่งวันหลังรัฐบาลระบุว่า สามารถบรรลุ “ความเข้าใจระดับหนึ่ง” กับอุตสาหกรรมประมงของประเทศเกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงมหาสมุทรแปซิฟิก แม้จะยังมีความกังวลอยู่บ้างก็ตาม
ขณะเดียวกัน Tepco เปิดเผยว่า กระบวนการดังกล่าวจะเริ่มต้นด้วยการปล่อยน้ำปริมาณน้อย ๆ ที่ประมาณ 7,800 ลูกบาศก์เมตรเป็นระยะเวลา 17 วัน โดยจะมีการตรวจสอบเข้มข้นเป็นพิเศษตลอดเวลาด้วย
บริษัทแห่งนี้ยังระบุด้วยว่า ในน้ำปริมาณที่ว่า จะมีสารทริเทียมราว 190 เบ็กเคอเรลต่อลิตรปนอยู่ โดยตัวเลขนี้อยู่ต่ำกว่าระดับ 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตรตามที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ปลอดภัยสำหรับการดื่มด้วย
เบ็กเคอเรลเป็นหน่วยสากลที่วัดกัมมันตภาพรังสี
สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA) ของสหประชาชาติอนุมัติแผนงานนี้ของญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคม โดยระบุว่า กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากลและว่า ผลกระทบที่อาจเกิดต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นระดับที่ “เล็กน้อย”
ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นของสถานีโทรทัศน์ FNN ของญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามราว 56% ที่สนับสนุนแผนการปล่อยน้ำจากฟุกุชิมะ โดย 37% นั้นคัดค้าน
- ที่มา: รอยเตอร์