รัฐบาลญี่ปุ่นขอให้จีน "รับรองความปลอดภัยของพลเมืองญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในจีน" หลังจากมีกระแสการละเมิดและข่มขู่ทางโทรศัพท์ต่อบริษัทญี่ปุ่น สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาลงในทะเล สร้างความไม่พอใจให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน
แม้ว่าทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ต่างยืนยันว่านำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวมีความปลอดภัย แต่จีนออกมาต่อต้านเรื่องนี้อย่างแข็งขันพร้อมทั้งใช้มาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทุกประเภท
ในวันอาทิตย์ รัฐบาลกรุงโตเกียวเผยแพร่ข้อมูลการตรวจสอบที่ชี้ให้เห็นว่า น้ำทะเลบริเวณโรงไฟฟ้าฟุกุชิมายังคงมีระดับกัมมันตรังสีอยู่ในระดับปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ชาวจีนจำนวนมากพากันโทรศัพท์ไปยังธุรกิจต่าง ๆ ของญี่ปุ่นเพื่อตำหนิเรื่องการปล่อยน้ำปนเปื้อน ตั้งแต่สถานที่จัดคอนเสิร์ตในโตเกียว ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในเมืองอิวาเตะทางภาคเหนือ
นายกเทศมนตรีเมืองฟุกุชิมา ฮิโรชิ โคฮาตะ กล่าวว่า เทศบาลของเมืองนี้ต้องรับโทรศัพท์ราว 200 ครั้งในช่วงสองวันที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าของธุรกิจในเมืองฟุกุชิมาผู้หนึ่งเผยกับสำนักข่าวเกียวโดว่า ร้านค้าของตนต้องรับโทรศัพท์มากกว่า 1,000 ครั้งเมื่อวันศุกร์ ส่วนใหญ่มาจากชาวจีน
ฮิโรยูกิ นามาซึ เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงของญี่ปุ่น กล่าวแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จีนขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ
แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ระบุว่า "เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลจีนใช้มาตรการที่เหมาะสม เช่น การประกาศให้ประชาชนอยู่ในความสงบ รวมทั้งใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อรับรองความปลอดภัยของพลเมืองญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในจีน และเจ้าหน้าที่การทูตของญี่ปุ่นด้วย"
ขณะที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงปักกิ่งก็มีประกาศเตือนประชาชนของตนที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนให้ระวังภัยคุกคามและอย่าแสดงตัวโจ่งแจ้งว่าเป็นคนญี่ปุ่น
ทางด้านผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ของจีนต่างแชร์วิดีโอที่พวกตนโทรศัพท์ไปยังบริษัทและธุรกิจต่าง ๆ ในญี่ปุ่น เพื่อตำหนิเรื่องการปล่อยน้ำเสีย
ทั้งนี้ บรรษัทการไฟฟ้ากรุงโตเกียว หรือ TEPCO (Tokyo Electric Power Company) เป็นผู้บำบัด ทำให้เจือจาง และปล่อยน้ำเสียในจำนวนที่ควบคุมไว้ โดยน้ำเหล่านั้นถูกใช้ในการหล่อเย็นแกนปฏิกรณ์ปรมาณูของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 สร้างความเสียหายให้กับเตาปฏิกรณ์ทั้งสามแห่งของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งถือเป็นวิกฤตด้านนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986
ผู้สนับสนุนแผนปล่อยน้ำเสียระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการนี้ หลังจากที่ TEPCO ยืนยันว่าจะไม่มีพื้นที่เก็บน้ำเสียเหล่านั้นอีกต่อไปหลังจากครึ่งปีแรกของปี 2024
แต่บรรดาผู้คัดค้าน รวมถึงประชาชนในจีน เกาหลีใต้ และประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก แสดงความกังวลต่อข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอในการประเมินผลกระทบจากเรื่องนี้ รวมถึงอันตรายในระยะยาวจากกัมมันตรังสี ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสัตว์น้ำต่าง ๆ
- ที่มา: เอเอฟพี