การตรวจดีเอ็นเองาช้าง ช่วยระบุแหล่งที่มาและกลุ่มลักลอบ

FILE - Confiscated ivory statues stand in front of one of around a dozen pyres of ivory, in Nairobi National Park, Kenya, April 28, 2016. A leading elephant conservation group said Wednesday, March 29, 2017 that the price of ivory in China has dropped as

Your browser doesn’t support HTML5

การตรวจดีเอ็นเองาช้างช่วยระบุแหล่งที่มาและกลุ่มลักลอบ

เมื่อไม่กี่ปีก่อน เเซม เวสเซอร์ นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กับเพื่อนร่วมงาน ได้พัฒนาวิธีทดสอบดีเอ็นเอที่สามารถระบุได้ว่างาช้างเถื่อนมาจากที่ใด และมีการใช้วิธีทดสอบดีเอ็นเอกับงาช้างที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จำนวนมากหลายครั้ง

ทีมงานของเวสเซอร์ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สอบสวนปราบปรามการลักลอบงาช้างเถื่อนในระดับนานาชาติได้

แต่จากผลการตรวจทางดีเอ็นเอของงาช้างเท่าที่ผ่านมา เวสเซอร์กล่าวว่า ทีมงานพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากที่ทำให้ทีมงานเกิดความสงสัย ทีมงานสังเกตุพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของงาช้างที่ยึดได้ในการปราบปรามครั้งใหญ่ๆ งาช้างไม่มีงาคู่ หรือพูดง่ายๆ ว่ามีงาเพียงข้างเดียวของช้างแต่ละตัวในงาช้างเถื่อนแต่ละล็อตที่ยึดได้

เเละเมื่อทีมงานได้วิเคราะห์ผ่านข้อมูลทางพันธุกรรมที่ได้จากการยึดงาช้างครั้งใหญ่ๆ หลายครั้ง พวกเขาพบว่า มี 28 กรณีที่พบว่างาช้างอีกข้างหนึ่งถูกแยกไปอยู่ในงาช้างเถื่อนอีกล็อตหนึ่งที่ถูกยึดได้ต่างหาก

และในเเต่ละกรณี งาช้างเถื่อนทั้งสองล็อตที่งาจากช้างตัวเดียวกันถูกแยกคู่จะถูกส่งผ่านช่องทางการขนส่งเดียวกัน ภายในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน

เวสเซอร์ นักชีววิทยาอเมริกัน กล่าวว่า ข้อมูลนี้ชี้ว่างาช้างทั้งสองล็อตที่ยึดได้เป็นผลงานของกลุ่มลักลอบงาช้างเถื่อนกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียวกัน เขากล่าวว่า เมื่อผู้ลักลอบถูกจับตัว ผู้ต้องหาถูกลงโทษต่อการลักลอบงาช้างเพียงล็อตเดียวเท่านั้น อย่างที่เกิดขึ้นกับสมาชิกของเครือข่ายลักลอบจากยูกันดาคนหนึ่งระหว่างการรอขึ้นศาลในขณะนี้

แต่การศึกษาใหม่นี้พบว่า ผู้ต้องหาคนนี้เกี่ยวข้องกับการลักลอบงาช้างเถื่อนอีกสองครั้ง รวมทั้งเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 2012 ที่เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์จากยูกันดาลำหนึ่งข้ามชายเเดนเข้าไปยิงช้าง 22 เชือกในเขตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

เวสเซอร์กล่าวว่า ลองจินตนาการดูว่าหากใช้หลักฐานที่ได้จากการศึกษานี้ต่อผู้ต้องหา คำกล่าวหาก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมาก

เเฟรงค์ โพพ (Frank Pope) ซีอีโอของหน่วยงานไม่หวังผลกำไร Save the Elephants กล่าวว่า วิธีการตรวจดีเอ็นเอของงาช้างที่เวสเซอร์และทีมงานพัฒนาขึ้นนี้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สอบสวนคดีมีข้อมูลที่เเม่นยำขึ้นว่าเครือข่ายลักลอบนานาชาติขนย้ายงาช้างเถื่อนกันอย่างไร

โพพกล่าวว่า ผลการศึกษาแหล่งที่มาของงาช้างเถื่อนด้วยการวิเคราะห์ดีเอ็นเอนี้น่าทึ่งมากเเละสำคัญ เขากล่าวว่า งานวิจัยของ แซม เวสเซอร์ ช่วยให้หน่วยงานพิทักษ์สัตว์ระบุตัวเครือข่ายลักลอบเหล่านี้ได้ด้วยการศึกษาดูความเกี่ยวโยงทางดีเอ็นเอของงาช้างที่ยึดได้ในแต่ละล็อต

เวสเซอร์ กล่าวปิดท้ายว่า วิธีตรวจดีเอ็นเองาช้างนี้อาจจะเป็นประโยชน์ในงานสอบสวนคดีลักลอบค้าสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ด้วย

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)