ทีมนักวิจัย เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ผลการศึกษาของพวกเขายืนยันว่ามีช้างแอฟริกาสองสายพันธุ์ด้วยกัน โดยสายพันธุ์แรกอาศัยในป่า เเละอีกสายพันธุ์หนึ่งอาศัยในเขตทุ่งหญ้าสะวันนา
ช้างแอฟริกาทั้งสองสายพันธุ์ ใช้ชีวิตแยกกันเกือบสิ้นเชิงตลอดเวลาครึ่งล้านปีที่ผ่านมา เเม้ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันก็ตาม
ช้างแอฟริกาทั้งสองสายพันธุ์ และช้างเอเชีย กลายเป็นช้างเพียงสามสายพันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลก
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการร่างแผนที่ทางพันธุกรรมของช้างแอฟริกาที่อาศัยในเขตทุ่งหญ้าสะวันนา 2 ตัว ช้างแอฟริกาที่อาศัยในป่าอีก 2 ตัว ช้างเอเชีย 2 ตัว ช้าง “งาตรง” ที่สูญพันธุ์ไปเเล้ว 2 ตัว แมมมอธขนยาวที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 ตัว ซึ่งมาจากอเมริกาเหนือ 2 ตัว เเละอีกสองตัวมาจากไซบีเรีย แมมมอธโคลัมเบียสูญพันธุ์เเล้ว 1 ตัว เเละมาสโตดอน (mastodons) ของอเมริกาที่สูญพันธุ์เเล้วอีก 2 ตัว
มาสโตดอน ไม่ถูกจัดว่าอยู่ในครอบครัวของช้าง แต่จัดว่าเป็นสัตว์ตระกูลเครือญาติเท่านั้น
Eleftheria Palkopoulou นักพันธุศาสตร์แห่งภาควิชาการแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า หวังว่าผลการศึกษานี้จะช่วยสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจต่อประวัติการวิวัฒนาการที่รุ่งเรืองของช้าง เเละเน้นให้เห็นความจำเป็นในการปกป้องช้าง 3 สายพันธุ์ที่คงเหลืออยู่บนโลกในปัจจุบันนี้ เพราะช้างเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการล่า เเละการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยของช้าง
การวิจัยนี้พบว่า มีการผสมข้ามพันธุ์ของช้างระหว่างช้างสายพันธุ์ที่แตกต่างกันที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ว่าการผสมข้ามพันธุ์นี้ไม่เกิดขึ้นเเล้วในช้างสายพันธุ์ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ช้าง “งาตรง” ที่ครั้งหนึ่งเคยอาศัยในยุโรปและเอเชีย เป็นช้างสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในการศึกษา โดยมีความสูงถึง 4 เมตร และหนักถึง 15 ตัน ทีมนักวิจัยพบว่าช้างพันธุ์นี้เป็นช้างพันธุ์ลูกผสม ที่ส่วนหนึ่งของพันธุกรรมมาจากช้างหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ช้างแอฟริกาดึกดำบรรพ์ จากแมมมอธขนยาวและจากช้างป่าแอฟริกาที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เชื่อกันว่า ช้าง “งาตรง” มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมใกล้ชิดกับช้างเอเชีย เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันในลักษณะของกะโหลกเเละฟัน โดยช้าง “งาตรง” หนึ่งในสองตัวที่ศึกษา มีชีวิตบนโลกเมื่อ 1 แสน 2 หมื่นปีที่แล้ว
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้ยังพบหลักฐานใหม่ ที่ชี้ถึงการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแมมมอธโคลัมเบียกับแมมมอธขนยาวในยุคน้ำเเข็ง ที่มาเจอกันในหลายจุดที่อากาศอุ่นกว่าในอเมริกาเหนือ ซึ่งพื้นที่จรดกับเขตน้ำเเข็ง ซึ่งในตอนนั้นปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีป
ผลการศึกษานี้ ตีพิมพ์ในวารสาร The Proceedings of the National Academy of Sciences ไปเมื่อเร็วๆนี้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)