ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีสภาพเเวดล้อมที่หลากหลาย สัตว์กับพืชมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันค่อนข้างซับซ้อน และต้นไม้ผลทุกสายพันธุ์ในป่าแห่งนี้ไม่ได้น่ากินเสมอไปสำหรับสัตว์กินพืช
ทีมนักวิจัยที่นำโดย คิม เเม็คคอนคีย์ อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ได้ศึกษาต้นไม้ผลชนิดหนึ่งเป็นการเฉพาะ คือ ต้นหัวช้าง (Platymitra macrocarpa) ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับต้นน้อยหน่า ต้นหัวช้างนี้ออกลูกขนาด 3-5 นิ้ว ซึ่งจะเริ่มสุกตั้งเเต่เดือนพฤษภาคมจนถึงสิงหาคม
เเม็คคอนคีย์ หัวหน้าทีมนักวิจัยได้บันทึกว่า สัตว์ต่างๆ ไปเก็บกินผลของต้นหัวช้างบ่อยแค่ไหน รวมทั้ง ช้าง หมี ลิง ชะนี เเละกวางเเซมบาร์ (Sambar deer)
ทีมนักวิจัยได้วัดปริมาณผลไม้ที่สัตว์ต่างๆ กิน พร้อมกับประเมินความสามารถในการนำเมล็ดไปแพร่กระจายและงอกเงยเป็นต้นต่อไป
ทีมนักวิจัยตรวจหาเมล็ดต้นหัวช้างในมูลสัตว์ชนิดต่างๆ และพบเมล็ดต้นหัวช้างในมูลของสัตว์บางชนิด และไปไปตามคาด ช้างเอเชียเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเมล็ดของต้นหัวช้างไปแพร่กระจาย แม้ว่าจะไม่พบเห็นช้างในจุดที่มีต้นหัวช้างบ่อยนัก
เเมคคอนคีย์ หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า จากการตรวจมูลช้างพบว่าช้างจะกินผลของต้นหัวช้าง และมูลของช้างช่วยให้เมล็ดพันธุ์งอกเงยเป็นต้นกล้าได้ถึงร้อยละ 37
ผลการศึกษาเกี่ยวกับช้างเอเชียกับการกระจายพันธุ์พืชนี้ ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของช้างในระบบนิเวศฯ
Jedediah Brodie ประธานแห่งโครงการอนุรักษ์ชีววิทยาสัตว์ป่า (Conservation in the Wildlife Biology Program) ที่มหาวิทยาลัยมอนทาน่า กล่าวว่า การล่าสัตว์เกินความพอดีในประเทศเขตร้อน มักทำให้สัตว์ใหญ่ให้สูญพันธุ์ในท้องถิ่น ในขณะที่สัตว์เล็ก อาทิ หนู อยู่รอดต่อไป แต่ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า สัตว์ขนาดเล็กที่อยู่รอด ไม่สามารถทดแทนบทบาททางนิเวศวิทยาของสัตว์ใหญ่ได้
เมื่อมองดูที่บทบาทของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ทีมนักวิจัยรู้สึกประหลาดใจมากที่พบว่ากวางเเซมบาร์สามารถนำเมล็ดต้นหัวช้างไปแพร่กระจายได้อย่างมีประสิทธิผล
เเมคคอนคีย์กล่าวว่า กวางเเซมบาร์ โดยทั่วไปมีภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดีนักในป่าเขาใหญ่ เพราะคนมองว่ากวางเป็นสัตว์ที่กินเมล็ดพืชเป็นอาหาร เเต่จริงๆ เเล้วกวางพันธุ์นี้กลับช่วยนำเมล็ดต้นหัวช้างไปแพร่กระจายจำนวนมาก ถึงเเม้ว่าอาจจะทำได้ไม่ดีเท่ากับชะนีก็ตาม โดยอยู่ที่ร้อยละ 17 ขณะที่ชะนีอยู่ที่ร้อยละ 21
ด้วงถั่วเหลือง (Bruchid beetles) เป็นตัวอุปสรรคหลักต่อการอยู่รอดของเมล็ดพืชที่กำลังจะงอกเงยเป็นต้นกล้า ด้วงปีกเเข็งชนิดนี้เป็นศัตรูพืชที่กัดกินเมล็ดพันธุ์พืชเเละเมล็ดถั่วทุกชนิด เป็นตัวทำลายเมล็ดพืชที่ตกหล่นอยู่บนพื้นในป่า แต่มูลของช้างช่วยปกป้องเมล็ดของต้นหัวช้างจากด้วงถั่วเหลืองและช่วยให้งอกเป็นต้นกล้าได้
นักวิจัยชี้ว่า หากช้างเอเชียหายสาบสูญไปจากป่าดงดิบของเมืองไทยก็จะกระทบต่อความอยู่รอดของต้นไม้ชนิดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE
(ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)