อิสราเอลประกาศในวันอังคารว่า ได้ระดมโจมตีใส่เป้าหมายในฉนวนกาซ่าหลายร้อยครั้งในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล กล่าวว่า กองทัพของเขา "เพิ่งเริ่มต้น" การโจมตีตอบโต้กลุ่มฮามาสในกาซ่า
เป้าหมายในการโจมตีครั้งล่าสุดของอิสราเอล รวมถึงย่านชุมชนริมาลในกาซ่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานรัฐบาลของฮามาสหลายแห่ง
เนทันยาฮู กล่าวในช่วงค่ำวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า "สิ่งที่เราจะทำกับศัตรูในช่วงไม่กี่วันจากนี้จะส่งแรงสะเทือนต่อพวกเขาไปอีกหลายชั่วอายุคน"
Your browser doesn’t support HTML5
กองทัพอิสราเอลกล่าวว่า ได้สั่งระดมพลกำลังสำรอง 300,000 คนเพื่อเตรียมการตอบโต้ต่อการโจมตีของกลุ่มฮามาสในดินแดนอิสราเอลที่ติดกับฉนวนกาซ่า พร้อมระบุว่า กลุ่มฮามาสได้ยิงจรวดเข้ามาในอิสราเอลแล้ว 4,500 ลูกนับตั้งแต่เริ่มการโจมตีเมื่อวันเสาร์
ทางด้านโฆษกกองกำลังฮามาสขู่ว่า ทุกครั้งที่อิสราเอลโจมตีใส่เป้าหมายพลเรือนในกาซ่าโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า จะมีการสังหารตัวประกันทีละคนจากทั้งหมดราว 150 คนที่กลุ่มฮามาสจับกุมตัวไว้
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล โยอาฟ แกลแลนต์ แถลงผ่านวิดีโอว่า อิสราเอลจะบุกยึดกาซ่าอย่างสมบูรณ์ และจะตัดขาดสาธารณูปโภคต่าง ๆ สำหรับดินแดนของปาเลสไตน์แห่งนี้ รวมทั้งไฟฟ้า เชื้อเพลิง อาหารและน้ำ ซึ่งเป็นคำขู่ที่สร้างความกังวลให้แก่องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เกรงว่าจะเป็นการทำร้ายประชาชนที่อาศัยอยู่ในกาซ่า และละเมิดกฎหมายสากล
เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ กล่าวว่า แม้ความกังวลด้านความปลอดภัยของอิสราเอลเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ปฏิบัติการใด ๆ ทางทหารก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายด้านมนุษยธรรมด้วย โดยต้องหลีกเลี่ยงการมุ่งเป้าไปที่ประชาชนและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลเรือน
"สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซ่าเสื่อมทรุดอย่างมากอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ และเวลานี้ก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก" กูเทอเรซกล่าว
ตัวเลขผู้เสียชีวิตในวันจันทร์เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,600 คน โดยอย่างน้อย 900 คนเสียชีวิตในอิสราเอล และราว 700 คนในกาซ่า ซึ่งคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงกว่านี้ และมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่ายเกือบ 6,000 คน
รายงานระบุว่ามีชาวต่างชาติเสียชีวิตในอิสราเอลจำนวนมาก รวมทั้งพลเมืองอังกฤษ ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา ยูเครน เนปาล กัมพูชา และไทย นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันว่ามีชาวอเมริกันเสียชีวิต 14 คน และอีก 20 คนยังไม่ทราบชะตากรรม
เวลานี้ รัฐบาลหลายประเทศกำลังเร่งหาทางนำพลเมืองของตนออกจากอิสราเอล ขณะที่สหประชาชาติระบุว่า มีประชาชนในกาซ่าไร้ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 187,000 คน
บรรดาผู้นำของชาติตะวันตก รวมทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ต่างมีแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนรัฐอิสราเอลและประณามกลุ่มฮามาส
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวเมื่อวันอังคาร ประณามกลุ่มฮามาสที่ก่อเหตุโจมตีอิสราเอลช่วงสุดสัปดาห์ว่าเป็น “ความชั่วร้ายที่แท้จริง” และให้คำมั่นสนับสนุนอิสราเอล
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนอิสราเอล เราจะทำให้แน่ใจว่าอิสราเอลสามารถปกป้องตนเองได้ในวันนี้ พรุ่งนี้ เหมือนที่เราทำอยู่เสมอ”
อารี ฮาโรว์ อดีตหวัหน้าคณะทำงานของนายกฯ เนทันยาฮู กล่าวกับวีโอเอว่า อิสราเอลไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเข้าสู่ความขัดแย้งนี้ หลังจากที่กลุ่มฮามาสเลือกโจมตีในวันสำคัญที่สุดทางศาสนาของชาวยิว
"นี่ไม่ใช่สิ่งที่อิสราเอลคาดการณ์มาก่อน แต่เมื่อเราถูกลากเข้าไปและมีการประกาศสงคราม เป้าหมายที่ชัดเจนนั้นมีอยู่อย่างเดียว คือการทำลายโครงสร้างการก่อการร้ายในกาซ่าอย่างถาวร เพื่อรับประกันว่าประชาชนอิสราเอลจะไม่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายแบบนี้อีก" ฮาโรว์กล่าว
Your browser doesn’t support HTML5
ด้านประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี โยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอลกับการรุกรานของรัสเซียในดินแดนยูเครน
"ปีศาจร้ายตัวเดียวกัน แตกต่างเพียงแค่การโจมตีอิสราเอลนั้นเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย แต่ยูเครนถูกรุกรานโดยรัฐก่อการร้าย" เซเลนสกีกล่าวในวิดีโอระหว่างการประชุมร่วมกับองค์การนาโต้ที่กรุงโคเปนเฮเกน
อย่างไรก็ตาม เกธ อัล-โอมารี นักวิชาการแห่ง Washington Institute for Near East Policy กล่าวกับวีโอเอว่า กระตัดสินใจของอิสราเอลต่อจากนี้มีความสำคัญยิ่ง "หากอิสราเอลจำกัดขอบเขตสงครามนี้ให้เสียหายต่อประชาชนบริสุทธิ์น้อยที่สุด ก็เชื่อว่าอิสราเอลจะได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศต่อไป แต่หากอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แรงหนุนนั้นก็จะเปลี่ยนไป"
นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า รัสเซียและจีนจะใช้เหตุการณ์ความไม่สงบนี้ในการหาแรงสนับสนุนฝ่ายของตนเองเช่นกัน ซึ่งนั่นถือเป็นบททดสอบสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์