ทั้งรักทั้งชัง! เมื่ออาเซียนต้องเลือกจีนในฐานะมหาอำนาจ

  • VOA

ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน

อิทธิพลของจีนที่แผ่ขยายออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้สมาชิกประเทศอาเซียนต้องยอมรับว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนี้คือ ผู้ที่ตนจะต้องหันมาแอบอิงมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว แม้ว่า ความคิดเห็นในบางแง่มุมจากการสำรวจล่าสุดจะแสดงให้เห็นว่า อาเซียนยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการจัดการความสัมพันธ์กับจีนที่แม้จะมีอำนาจมาก ก็ยังไม่สามารถซื้อใจประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เสียทีเดียว

นับตั้งแต่สถาบันคลังสมอง ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เริ่มจัดทำรายงานประจำปีที่มีชื่อว่า State of Southeast Asia ขึ้นมาเมื่อ 5 ปีก่อน สหรัฐฯ คือ ตัวเลือกอันดับหนึ่งในฐานะมหาอำนาจโลกในใจชาวอาเซียนมาโดยตลอด จนถึงการสำรวจที่จัดทำในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ที่มีการพลิกขั้วเป็นครั้งแรก

งานวิจัยล่าสุดที่สอบถามความเห็นตัวอย่างประชาชนเกือบ 2,000 คนที่เป็นตัวแทนจาก 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอหรือสื่อ เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรระดับภูมิภาคหรือระดับสากล สรุปออกมาว่า เมื่อมีการตั้งคำถามว่า “หากเกิดถูกบีบให้เลือกระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเลือกใคร” 50.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจีน และ 49.5% เลือกสหรัฐฯ

ผลสำรวจนี้ถือเป็นการพลิกอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับตัวเลขจากรายงานของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 38.9% สำหรับผู้ที่เลือกจีน และ 61.1% สำหรับผู้ที่เลือกสหรัฐฯ

ผลการสำรวจความเห็นชาวอาเซียนในปี 2024 โดย ISEAS Yusof Ishak Institute

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุดนี้เป็นค่าเฉลี่ยจากการสำรวจตัวอย่างใน 10 ประเทศอาเซียนเท่านั้น ขณะที่ เมื่อลงลึกไปในรายละเอียด จะพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ (61.5%) เวียดนาม (79%) และฟิลิปปินส์ (83.3%) ยังมองว่า สหรัฐอเมริกาคือ มหาอำนาจของโลกอยู่ดี โดยกรณีของสองประเทศหลังนี้ไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจนัก หากพิจารณากรณีการเผชิญหน้าระหว่างยามชายฝั่งของจีนกับฟิลิปปินส์ในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผ่านมา และการที่กรุงฮานอยเพิ่งยกระดับความสัมพันธ์กับกรุงวอชิงตันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ขึ้นสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership – CSP) ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสูงที่สุดที่เวียดนามมีให้กับประเทศอื่น ๆ

SEE ALSO: ฟิลิปปินส์กร้าว! ประกาศเตรียมพร้อมมาตรการรับมือจีนในทะเลจีนใต้

ผลสำรวจของ ISEAS-Yusof Ishak Institute ในปีนี้เป็นไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกับดัชนี Asia Power ของสถาบัน Lowy Institute ที่พูดถึงอิทธิพลอันโดดเด่นของจีนในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การทูตและการแลกเปลี่ยนในระดับบุคคล พร้อม ๆ กับประเด็นอิทธิพลโดยรวมของสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างชัดเจนที่เปิดทางให้จีนเข้ามาแทนที่นั่นเอง

Your browser doesn’t support HTML5

ทั้งรักทั้งชัง! เมื่ออาเซียนต้องเลือกจีนในฐานะมหาอำนาจ

ฤาสหรัฐฯ สนใจอาเซียนน้อยลง

รายงาน State of Southeast Asia: 2024 Survey Report ชี้ว่า ขณะที่ สหรัฐฯ ยังคงสถานภาพความเป็นผู้ให้การสนับสนุนภูมิภาคอาเซียนให้รักษาไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่อิงตามกฎเกณฑ์และกฎหมายระหว่างประเทศเสมอมา ผู้ตอบสอบแบบสอบถามราว 38.2% มองว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้ความสำคัญต่ออาเซียนลดลง แม้ 25.2% จะเห็นตรงกันข้ามก็ตาม

ประเด็นที่น่าสนใจอีกข้อคือ การที่ 34.9% เชื่อว่า สหรัฐฯ คือ หุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่ยังไว้วางใจได้ เพราะนี่คือตัวเลขที่ลดลงจากระดับ 47.2% ในปีที่แล้ว

อานิสงส์ “หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง” ดึงอาเซียนเข้าหาจีน

หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนเลือกหันหาจีนในปีนี้คือ แนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative) ของรัฐบาลปักกิ่ง โดยเฉพาะในสายตาของมาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว บรูไนและประเทศไทยที่ล้วนได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ และมองว่า จีนยังคงจะมุ่งมั่นรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียนต่อไปอีกนาน แม้ว่า จะมีคำครหาว่า นี่คือนโยบายการทูตเพื่อสร้างกับดักหนี้ และความจริงที่ว่า เม็ดเงินการลงทุนโดยตรง (foreign direct investment) จากจีนเข้ามายังภูมิภาคนี้จะยังตามหลังสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปอยู่ก็ตาม

SEE ALSO: อาเซียนจับมือจีน ยกระดับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม

ในภาพรวมนั้น จีนดูดีในสายตาอาเซียนขึ้นอย่างมาก โดยดูได้จากการที่อาเซียนประกาศให้จีนเป็นคู่เจรจาประเทศแรกที่ได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านในปี 2021 ขณะที่ ทั้งสองฝ่ายมีการอัพเกรดข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ให้กลายมาเป็นสมาชิกข้อตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) รวมทั้งมีความสนใจที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกข้อตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) โดยทั้งหมดนี้ ทำให้จีนยิ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยชี้นำพลวัตการค้าในภูมิภาคยิ่งขึ้นไปอีก

รายงานนี้ยังพบว่า 59.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า จีนยังคงเป็นเจ้าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ความกังขา ความระแวงและความไม่ไว้ใจจีนที่ยังมีอยู่

ถึงกระนั้น ชารอน เซียะ ผู้นำทีมเขียนรายงานนี้ ให้ความเห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ “ยังคงมีความไม่ค่อยสบายใจและมีความกังวล” เกี่ยวกับอิทธิพลเชิงยุทธศาสตร์ การเมืองและเศรษฐกิจของจีนต่อตนอยู่ดี

ผลการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ (64.75%) ยังคงกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลจีนที่แผ่ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ 32.6% ยินดีที่จีนมีบทบาทมากขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศตน

เซียะ ระบุในบทวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ Fulcrum ของ ISEAS-Yusof Ishak Institute ว่า “บางที กระแสความมั่นใจอาจพัดเข้าหาจีน เพราะความสัมพันธ์ที่มีผลสืบเนื่องตามมาสำหรับภูมิภาคนี้” และว่า “แต่ก็ยังต้องดูกันต่อไปว่า กระแสขาลงสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับภาวะภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้หรือไม่ อย่างไร”

ขณะเดียวกัน มาร์ค เอส. โคแกน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาประเด็นความขัดแย้งและสันติภาพที่มหาวิทยาลัยคันไซไกได (Kansai Gaidai University) ที่ญี่ปุ่น บอกกับนิตยสารไทม์ (TIME) ว่า ผลการศึกษาทั้งหมดในปีนี้ไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเท่าใดเลย เพราะ “อาเซียน ในฐานะสถาบัน ก็แตกแยกกันเองและมีการแสดงพฤติกรรมแตกต่างออกมามากมายสำหรับกรณีความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โคแกน กล่าวด้วยว่า ประเทศอาเซียนหลายประเทศมักรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับจีนไว้ ผ่านการค้าและการลงทุนในโครงการพัฒนาต่าง ๆ พร้อม ๆ กับดำเนินการป้องกันความเสี่ยงจากการที่จีนจะพยายามสร้างอิทธิพลและขยายขอบเขตอาณานิคมของตน ด้วยการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางการทหารกับสหรัฐฯ ไปพร้อม ๆ กัน

SEE ALSO: ‘วิถีการทูตไผ่ลู่ลม’ กับ ‘ความเนื้อหอม’ ของเวียดนามในสายตาจีนและสหรัฐฯ

ท้ายสุด เซียะ ให้ความเห็นว่า “ประเด็นสำคัญก็คือ ขณะที่ สภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์มีความอ่อนไหวมากขึ้นเรื่อย ๆ ภูมิภาค(อาเซียน)ก็เริ่มหาทางเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวภายในกลุ่มเพิ่มขึ้นแล้ว”

  • ที่มา: rfa.org / time.com / fulcrum.sg