ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียให้ความเห็นว่า จีนใช้โอกาสที่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19 เสนอให้ความช่วยเหลือในหลายด้านเพื่อต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันจีนก็ใช้ท่าทีประจัญหน้ามากขึ้นในการรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐฯ ด้วยการยกประเด็นเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมทางสังคมและการปฏิบัติต่อคนต่างผิวพรรณในสหรัฐฯ ขึ้นมาโจมตีตอบโต้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ก่อนที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคมนั้น นายหวัง ยี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ไปเยือนบรูไน อินโดนีเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์ และสัญญาว่าจีนจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องวัคซีน การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งเรื่องการค้าด้วย
ท่าทีแบบ "ไม้อ่อน" ของจีนต่ออาเซียน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเพิ่งเสร็จสิ้นการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่กรุงปักกิ่ง โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนจะยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ทั้งที่มีขนาดเล็กและขนาดกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้
หัวข้อของการหารือนั้น รวมถึงเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 การช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ให้ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจจะมีผลช่วยโน้มน้าวหลายประเทศในภูมิภาคนี้เข้าไปหาจีนและออกจากเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ ได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียบางคน เช่น อาจารย์ Stephen Nagy ของมหาวิทยาลัย International Christian University ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า ประเทศสมาชิกของอาเซียนส่วนใหญ่นั้นต้องการรักษาความเป็นกลางโดยไม่โอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะไม่พอใจในการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่บางส่วนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งเรื่องการควบคุมทรัพยากรน้ำเหนือเขื่อนในแม่น้ำโขงก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านายหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนจะพยายามส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า จีนต้องการเป็นหุ้นส่วนกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ควรมีท่าทีที่โอนอ่อนและคล้อยตามจีนก่อนที่จะคล้อยตามสหรัฐฯ ด้วย
การแข่งขันขยายอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในอาเซียน
ในช่วงไตรมาสแรกของปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้เสนอให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและมนุษยธรรมเพื่อบรรเทาปัญหาจากโควิด-19 มูลค่าราว 18 ล้านดอลลาร์แก่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวก็ยังเทียบไม่ได้กับขนาดและขอบข่ายของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งถนนมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์จากจีน
รองศาสตราจารย์ Alan Chong จาก S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ ได้ชี้ว่า การลงทุนของจีนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งถนนในหลายประเทศของอาเซียนก็น่าจะเพียงพอที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหล่านี้ได้
นอกจากนั้น กลุ่มประเทศอาเซียนยังคาดหวังว่าจีนจะมีบทบาทมากกว่าสหรัฐฯ เพื่อนำเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมา รวมทั้งยังหวังด้วยว่านักท่องเที่ยวจากจีนและความต้องการสินค้าออกจากประเทศของตนก็จะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจได้
การทูต "ไม้แข็ง" ของจีนต่อสหรัฐฯ
ขณะที่จีนใช้นโยบายการให้ความช่วยเหลือหรือ soft diplomacy สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ในอีกด้านหนึ่งจีนก็หันมาใช้ไม้แข็งในการทำสงครามข่าวสารข้อมูลเพื่อตอบโต้คำตำหนิวิจารณ์จากสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิมนุษยชน
รายงานการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ของ Atlantic Council ในสหรัฐฯ ชี้ว่า ปฎิบัติการข่าวสารข้อมูลของจีนมีความทันสมัยมากขึ้น และได้จับประเด็นเรื่องความไม่ยุติธรรมทางเชื้อชาติและความไม่ทัดเทียมด้านรายได้ทั้งในสหรัฐฯ และในกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหัวข้อในการโจมตีกลับ อย่างเช่น มีการเปรียบเทียบการปฎิบัติของตำรวจในสหรัฐฯ ต่อคนผิวดำเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาเรื่องการใช้กำลังของตำรวจกับผู้ประท้วงในฮ่องกง เป็นต้น
และเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลปักกิ่งได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ โดยชี้ว่า มีการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติอย่างกว้างขวาง ต่อเนื่อง และเป็นระบบ ทั้งยังโจมตีด้วยว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ทำให้ความแตกแยกทางสังคมและความขัดแย้งระหว่างคนต่างเชื้อชาติยิ่งเลวร้ายลง ทั้งยังทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นด้วย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมักจะบอกปัดคำตำหนิจากต่างชาติเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่าสื่อมวลชนและมหาอำนาจต่างประเทศควรยุติการก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของตน แต่มาขณะนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่าจีนได้หันมาใช้กลยุทธ์การทำสงครามข่าวสารข้อมูลแบบประจัญหน้ามากขึ้น โดยมุ่งหยิบประเด็นปัญหาต่าง ๆทางสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศตะวันตกเพื่อตอบโต้และโจมตีกลับบ้างเช่นกัน