วิเคราะห์ท่าทีจีน: โปรยยาหอมสหรัฐฯ ท่ามกลางวิกฤตยูเครน จริงใจหรือมีนัยแฝง?

People walk past a large video screen at a shopping mall showing Chinese Premier Li Keqiang as he speaks during a press conference after the closing session of China's National People's Congress (NPC) in Beijing, March 11, 2022.

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า สหรัฐฯ และจีนไม่ควรปิดประตูทางวัฒนธรรมระหว่างกัน ภายใต้มาตรการลงโทษที่ชาติตะวันตกนำมาใช้กับรัสเซียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านและพันธมิตรสำคัญของจีน

นายกฯ หลี่ กล่าวว่า "นับตั้งแต่สองประเทศเปิดประตูต้อนรับกันและกัน (เมื่อ 50 ปีก่อน) ประตูนั้นก็ไม่ควรถูกปิดลงอีก เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน"

ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีน เริ่มเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปีค.ศ. 1972 หรือ 50 ปีที่แล้ว เมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศเกิดความบาดหมางกันในหลายเรื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการขยายอิทธิพลทางการเมืองและการทหารของจีน จนถึงประเด็นล่าสุด คือสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

นายกฯ หลี่ ยอมรับว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งและรัฐบาลกรุงวอชิงตันมีจุดยืนที่แตกต่างกันเกี่ยวกับวิกฤตในยูเครนในขณะนี้ แต่ก็เชื่อว่าความร่วมมือของสหรัฐฯ กับจีนเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างสันติภาพความมั่นคงของโลก และการพัฒนาในด้านต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า แม้ทั้งสองประเทศจะเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจและการค้า แต่ก็มิได้มุ่งร้ายและเต็มไปด้วยความเท่าเทียมกัน และกล่าวด้วยว่า จีนพร้อมทำงานร่วมกับประชาคมโลกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในยูเครน

Chinese Premier Li Keqiang speaks during a press conference after the end of the closing session of China's National People's Congress (NPC) at the Great Hall of the People in Beijing, March 11, 2022.

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า จีนกำลังพยายามแสดงท่าทีผูกไมตรีกับสหรัฐฯ เพราะเหตุผลด้านการเงินและการเมือง

วิลเลียม เบินส์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ กล่าวต่อสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตนเชื่อว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และบรรดาผู้นำจีน กำลังรู้สึกไม่มั่นใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน และไม่ได้คาดหวังว่ารัสเซียจะเผชิญกับมาตรการลงโทษและความท้าทายครั้งใหญ่จากการรุกรานยูเครน

ผอ.ซีไอเอ เชื่อด้วยว่า จีนกังวลต่อผลกระทบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากสงครามในยูเครน รวมถึงการที่สหรัฐฯ และประเทศในยุโรปถูกกดดันให้ต้องร่วมมือใกล้ชิดกันมากขึ้น

ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า จีนกำลังซื้อเวลาเพื่อขบคิดหานโยบายที่หมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้ เนื่องจากมาตรการลงโทษที่มุ่งเป้าไปยังรัสเซียนั้นส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงบริษัทและธนาคารของจีนที่ทำธุรกรรมกับรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อเล็กซานเดอร์ แซนด์แคมป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนแห่งมหาวิทยาลัยเคียล (Kiel University) ในเยอรมนี กล่าวกับวีโอเอว่า "จีนยังไม่ต้องการมีปัญหากับชาติตะวันตกในตอนนี้ แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่เปลี่ยนท่าทีต่อสหรัฐฯ ในระยะยาวเช่นกัน"

FILE - Russian, left, and Chinese flags sit on a table before a signing ceremony at the Great Hall of the People in Beijing, June 8, 2018.

แหล่งข่าวในสหรัฐฯ ชี้ว่า จีนจะยังไม่ลดความตึงเครียดจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเผชิญหน้าทางการทูตกับสหรัฐฯ แต่จีนก็เห็นว่ายังมีส่วนที่ทั้งสองประเทศจะสามารถร่วมมือเพื่อเกื้อหนุนกันและกันในทางเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ ได้เช่นกัน

สก็อตต์ เคนเนดี ที่ปรึกษาอาวุโสแห่ง Center for Strategic and International Studies (CSIS) ให้ความเห็นว่า จะเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างยิ่งหากคิดว่าจีนได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่มีต่อสหรัฐฯ แล้วในตอนนี้ และว่า "ในขณะที่จีนกำลังพยายามแยกตัวเองออกจากผลของความโหดร้ายป่าเถื่อนของรัสเซียในยูเครน แต่จีนก็จะยังไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรชาติตะวันตกเพื่อแสดงจุดยืนต่อการรุกรานของรัสเซียด้วยเช่นกัน"

นักวิเคราะห์ของ CSIS ผู้นี้ชี้ว่า "จีนยังคงเชื่อว่ารัสเซียมีความกังวลด้านความมั่นคงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจัดการ และจีนยังให้ความร่วมมือกับรัสเซียในการเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ รวมทั้งแสดงจุดยืนต่อต้านมาตรการลงโทษของชาติตะวันตก ดังนั้น หากประเด็นเหล่านี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง การพูดว่าจีนปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อสหรัฐฯ นั้นจึงเป็นเพียงแค่คำกล่าวที่เลื่อนลอยเท่านั้น"