Your browser doesn’t support HTML5
การประท้วงที่นำโดยขบวนการสีเขียว หรือ Green Movement เมื่อปี พ.ศ. 2552 เป็นยุคบุกเบิกของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เรียกว่า "Twitter Revolution" ที่เป็นต้นแบบให้ชาติอื่นๆ มาจนถึงการประท้วงครั้งใหญ่ในอิหร่านปีนี้ เทคโนโลยีได้มีบทบาทสำคัญต่อการลุกฮือเพื่อต่อต้านรัฐบาลของนายฮัสซาน รูฮานี ที่ดำเนินไปทั่วอิหร่าน ท่ามกลางสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลายด้านด้วยกัน
อย่างแรก คือ สมาร์ทโฟน ได้ดึงชาวอิหร่านให้เข้าถึงข่าวสารบนโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ถ้าย้อนไปในปี 2552 ชาวอิหร่านเพียง 15 เปอร์เซนต์ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต แต่ ณ วันนี้ชาวอิหร่านราว 48 ล้านคน มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ และผู้คนกว่าครึ่งประเทศเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ต
อย่างที่สอง คือ ทางเลือกของแอพพลิเคชั่นส่งข้อความที่มีมากมายมหาศาล ถ้าเทียบกับช่วง Green Movement เมื่อปี 2552 มีเพียงเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ที่ใช้บนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เป็นช่องทางหลักที่ชาวอิหร่านใช้ติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางการเมืองรวมทั้งการจัดชุมนุม
แต่ในปีนี้ ชาวอิหร่านมีทางเลือกหลากหลายในการรับข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะ Telegram บริการส่งข้อความยอดนิยมอันดับ 1 ในอิหร่าน ขณะที่อินสตาแกรมได้รับความนิยมเป็นอับดับสอง
ซึ่งอีวา กัลเพอริน ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ของ Electronic Frontier Foundation บอกว่า Telegram ได้รับความนิยมเนื่องจากฟังก์ชันส่งข้อความแบบรหัสหรือช่องลับ ซึ่งเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข่าวสารและกิจกรรมทางการเมืองของผู้คนที่นั่น
ล่าสุดรัฐบาลอิหร่าน พยายามตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต รวมทั้งปิดการเข้าถึง Telegram และอินสตาแกรม เพื่อหวังยุติการประท้วงในครั้งนี้ แต่ประธาน Telegram กลับส่งสัญญาณให้ผู้ประท้วงหันไปใช้ทวิตเตอร์ที่ยังเข้าถึงได้ในอิหร่าน
ซึ่งในมุมมองของ เจเรด โคเฮน นักวิชาการอาวุโส จากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลับมองว่า วิธีนี้อาจได้ผลถ้าเป็นการประท้วงเมื่อปี 2552 แต่ปัจจุบัน ชาวอิหร่านมีทางเลือกในการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นส่งข้อความที่มีมากมายมหาศาลทั่วโลก และยากที่รัฐบาลจะเข้าถึงได้ทั้งหมด
อย่างที่สาม คือ เทคโนโลยีการป้องกันการจำกัดเนื้อหาในอินเตอร์เน็ต ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โดยการประท้วงเมื่อปี 2552 ชาวอิหร่านสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ต่อต้านการเซนเซอร์จากรัฐบาล อย่าง VPN และ Proxy ได้ง่ายกว่าในปัจจุบัน เพราะรัฐบาลอิหร่าน นำบทเรียนราคาแพงในการประท้วงเมื่อ 9 ปีที่แล้ว มาพัฒนาบริการอินเตอร์เน็ตภายในประเทศที่จำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการเมือง แต่ได้ถูกท้าทายโดยปัญญาชนชาวอิหร่านที่คอยหาทางเข้าถึงเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลปิดกั้นได้แทบทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จุดบอดที่สำคัญเห็นจะเป็นสมาร์ทโฟนในมือของชาวอิหร่านเสียเอง เพราะส่วนใหญ่เลือกใช้สมาร์ทโฟนรุ่นเก่าและมองข้ามการอัพเดทซอฟต์แวร์ป้องกันความปลอดภัยบนสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นโอกาสให้พวกเขาตกเป็นเป้าของการโจรกรรมข้อมูลโดยแฮกเกอร์ที่รัฐบาลหนุนหลังได้
ศึกนี้เห็นทีจะอีกยาวไกลสำหรับรัฐบาล ในการเดินเกม “วิ่งไล่จับ” กับเทคโนโลยีที่ผู้ประท้วงสรรหามาหลบหลีก ขณะเดียวกันก็เป็นการต่อสู้ที่หนักหน่วงสำหรับฝั่งผู้ประท้วงชาวอิหร่านที่ต้องเคลื่อนไหวทั้งบนท้องถนนและบนโลกออนไลน์ที่รัฐบาลพยายามกีดกัน