การยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านมีผลกระทบตลาดน้ำมันโลกอย่างไร?

นักวิเคราะห์เชื่อว่าเมื่อมีการยกเลิกมาตรการลงโทษอิหร่านทางเศรษฐกิจ อิหร่านจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของซาอุดิอเรเบียในตลาดน้ำมันโลก

Your browser doesn’t support HTML5

เมื่อยกเลิกมาตรการลงโทษอิหร่านทางเศรษฐกิจ

การทำข้อตกลงระหว่างอิหร่านกับประเทศมหาอำนาจทั้งหกซึ่งรวมทั้งสหรัฐ ในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้นั้น ทำให้วงการธุรกิจต่างๆ พากันตื่นเต้นยินดี และคาดการณ์กันล่วงหน้า​โดยเฉพาะในเรื่องอุตสาหกรรมน้ำมัน รวมทั้งคำถามที่ว่าซาอุดิอเรเบียผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกจะมีทีท่าอย่างไรในเรื่องนี้

นาย Giorgio Califiero นักวิเคราะห์และผู้ร่วมก่อตั้ง Gulf State Analytics กล่าวว่าซาอุดิอเรเบียมองการปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯที่เป็นไปอย่างเชื่องช้านี้ ว่าเป็นภัยคุกคามผลประโยชน์ของตน

นักวิเคราะห์ผู้นี้ให้ความเห็นว่า พื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอเรเบียกับสหรัฐฯ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับอิหร่านร่วมกัน และถ้าความวิตกกังวลนั้นลดลงหรือไม่มีอีกต่อไป ซาอุดิอเรเบียและพันธมิตรในบริเวณอ่าวเปอร์เชีย เชื่อว่าความสำคัญของพวกตนต่อความมั่นคงของชาติตะวันตกจะลดน้อยถอยลง

แต่นักวิเคราะห์ของ Gulf State Analytics ผู้นี้บอกว่า นั่นเป็นแต่ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นคือเมื่อมีการยกเลิกมาตรการลงโทษอิหร่านทางเศรษฐกิจ อิหร่านจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของซาอุดิอเรเบียในตลาดน้ำมันโลก

นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ที่แล้วๆ มาซาอุดิอเรเบียได้ปกป้องส่วนแบ่งตลาดของตนด้วยการไม่ลดปริมาณการผลิตแม้ราคาน้ำมันจะลดต่ำลงมาก ซึ่งผลกระทบหนึ่งก็คือบีบให้ผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ ต้องถอยหลังออกไปจากตลาด

แต่เวลานี้ซาอุดิอเรเบียกำลังมีปัญหามากขึ้น เพราะนอกจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันจะลดต่ำลงแล้ว ซาอุดิอเรเบียยังมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการสนับสนุนการทำสงครามในประเทศเยเมนที่อยู่ติดกันด้วย

ในอีกด้านหนึ่งทางการอิหร่านได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพ้นจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจแล้วจะเพิ่มปริมาณส่งออกน้ำมันเป็นสองเท่า และนักวิเคราะห์ Gary Hufbauer ของ Peterson Institute for International Relations ในกรุงวอชิงตันคาดว่า จะทำให้ราคาน้ำมัน ซึ่งเวลานี้อยู่ที่บาร์เรลละ 50 ดอลลาร์ ลดลงไปอยู่ที่ 35 ดอลลาร์ และยังจะลดลงต่อไปอีก ถ้าอิหร่านเพิ่มปริมาณส่งออกขึ้นไปอีก

แต่รัฐมนตรี Jacob Lew ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯบอกว่า ความคิดที่ว่าอิหร่านจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะเศรษฐกิจอิหร่านหดตัวลงราวๆ 15-20% ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2012-2014

เจ้าหน้าที่สหรัฐผู้นี้บอกว่า อิหร่านยังต้องการการลงทุนภายในประเทศอีกราวๆ ห้าแสนล้านดอลลาร์ด้วย