‘สัตว์-พืชต่างถิ่น’ ทำโลกสูญเงิน 423,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ภาพปลาคาร์พสายพันธุ์เอเชียที่ถูกไฟช็อตจนกระโดดขึ้นมาจากแม่น้ำอิลลินอยส์ หลังมีการหาทางจำกัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน

นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ความวุ่นวายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในหลายจุดทั่วโลกนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ยกระดับเพิ่มขึ้นสี่เท่าทุก ๆ ทศวรรษ ตามการเปิดเผยของรายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ

ตัวอย่างของเหตุการณ์รุกรานของชนิดต่างถิ่นนั้น มีอาทิ หนองน้ำที่ถูกปกคลุมด้วยผักตบชวา ท่อน้ำของโรงไฟฟ้าที่อุดตันจากหอยแมลงภู่ และสายไฟฟ้าที่ล้มลงจากงูต้นไม้สีน้ำตาล เป็นต้น

ภาพของการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำบุรีคงคา ในกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ

ทีมนักวิจัย 86 คนจาก 49 ประเทศได้เผยแพร่รายงานการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกในระยะเวลาสี่ปี อันเกิดจากชนิดพันธุ์รุกรานอันตรายจำนวนราว 3,500 ชนิด โดยพบว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจในเวลานี้สูงถึงกว่า 423,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ในสัดส่วนสูงถึง 60% เลยทีเดียว

เฮเลน รอย นักนิเวศวิทยาและเป็นประธานร่วมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยา (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services หรือ IPBES) แห่งสหประชาชาติ ยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาเลวร้ายที่มีแต่จะย่ำแย่ลงไปกว่านี้

หนึ่งในเหตุผลที่ทิศทางของปัญหานี้จะเลวร้ายก็คือ การคาดการณ์ว่าอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะยิ่งทำให้การขยายตัวของชนิดพันธุ์รุกรานนั้นรุนแรงหนักขึ้นอีก

ชนิดพันธุ์รุกราน คือ พืชหรือสัตว์ที่เคลื่อนย้ายโดยฝีมือมนุษย์ที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสภาพแวดล้อม เพราะชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านี้ทำลายสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและการดำรงชีพของมนุษย์ด้วย

ผลกระทบจากสิ่งนี้ มักจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่งจะกลายเป็นหายนะขนาดใหญ่ อย่างเช่น กรณีไฟป่าที่เกิดขึ้นเดือนสิงหาคม ในรัฐฮาวาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า หนึ่งในสาเหตุของไฟที่ลุกลามเกิดจากหญ้าชนิดพันธุ์รุกรานที่สามารถติดไฟได้ โดยเป็นชนิดที่นำมาจากแอฟริกาเพื่อใช้ในการทำปศุสัตว์

การกำจัดผู้รุกราน

รายงานล่าสุดนี้ระบุว่า ราวสามในสี่ของผลกระทบเชิงลบจากชนิดพันธุ์รุกรานนั้นเกิดขึ้นบนบก โดยเฉพาะบริเวณป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรม

เฮเลน รอย นักนิเวศวิทยาและเป็นประธานร่วม Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services หรือ IPBES

เฮเลน รอย นักนิเวศวิทยา ระบุว่า การแพร่กระจายสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น ในลักษณะจุลินทรีย์ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและพืช แต่ชนิดพันธุ์รุกรานประเภทสัตว์จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบนักล่า

อย่างไรก็ตาม ความจริงที่น่ากังวลที่สุดคือ การกำจัดชนิดพันธุ์รุกราน หลังจากที่พวกมันตั้งรกรากแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องยาก

ที่ผ่านมา เกาะเล็กๆ บางแห่งประสบความสำเร็จในการกำจัดหนูและกระต่ายที่เป็นชนิดพันธุ์รุกราน ด้วยการใช้กับดักและยาพิษ แต่ในบางกรณีที่ชนิดพันธุ์รุกรานมีจำนวนมหาศาลและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว การจะกำจัดอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก รวมไปถึงพืชชนิดพันธุ์รุกรานมักที่จะทิ้งเมล็ดไว้ในดินเฉย ๆ เป็นระยะเวลานานหลายปี

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มาตรการป้องกันด้านความปลอดภัยทางชีวภาพบริเวณชายแดนและการควบคุมการนำเข้าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการจำกัดการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์รุกราน

ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว รัฐบาลทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาที่จะดำเนินการตามข้อตกลงการปกป้องระบบนิเวศโลก Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework เพื่อที่จะลดการนำเข้าและจัดตั้งชนิดพันธุ์รุกรานตามลำดับความสำคัญ อย่างน้อย 50 % ภายในปี 2030

  • ที่มา: รอยเตอร์