ต้นกก “เฟร็คมายทีส” (Phragmites) เป็นกกสายพันธุ์ที่มาจากยุโรปเเละได้เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วสหรัฐฯ
คริสตีนา สิมคานนิน (Christina Simkanin) นักชีววิทยาที่ศูนย์วิจัยสิ่งเเวดล้อมสมิธโซเนียน (Smithsonian Environmental Research Center) กล่าวว่าต้นกกชนิดนี้เมื่อเเพร่ขยายในพื้นที่ชุ่มน้ำ มันจะทำให้พืชชนิดอื่นในพื้นที่ตายลงเกือบทั้งหมด
เธอกล่าวว่าต้นกก “เฟร็คมายทีส” จะโตเร็วเเละมีขนาดใหญ่กว่าต้นกกและหญ้าสายพันธุ์ท้องถิ่น โดยลำต้นของมันจะขึ้นเบียดเสียดกันเเน่นเต็มในพื้นที่ ไม่มีที่ว่างเหลือให้กกเเละหญ้าท้องถิ่นขึ้นได้ทำให้พืชท้องถิ่นตายลง
นกบางขนิดยังไม่สามารถทำรังในพงต้นกก “เฟร็คมายทีส” ที่ลำต้นเบียดกันจนเเน่นได้ นอกจากนี้ ลำต้นของกกต่างถิ่นนี้ ยังเเข็งมากจนสัตว์ต่างๆกินเป็นอาหารไม่ได้
พืชต่างถิ่นคุกคามต่อระบบนิเวศวิทยาชายฝั่งทั่วโลก ตลอดจนสร้างผลเสียต่อน้ำสะอาด อาหารเเละสิ่งที่มีประโยชน์อื่นๆ ที่ระบบนิเวศวิทยาในท้องถิ่นสร้างขึ้น แต่พืชต่างถิ่นบางชนิดมีคุณสมบัติที่ดีต่อสภาพเเวดล้อม นั่นก็คือ พืชเหล่านี้ช่วยกำจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
สิมคานนิน นักชีววิทยากล่าวว่าพืชต่างถิ่นบางชนิดสามารถดูดซับเเก๊สคาร์บอนได้มากกว่าอย่างต้นกก “เฟร็คมายทีส” จากยุโรปนี้ จึงทำให้มันโตเร็วเเละแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว
เมื่อสิมคานนินเเละทีมงานนักวิจัยได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาชายฝั่งทั่วโลกเพิ่มเติม ทีมงานพบว่าโดยรวม ระบบนิเวศวิทยาที่ถูกพืชต่างถิ่นรุกรานมีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าสภาพแวดล้อมที่ปลอดจากพืชต่างถิ่นถึงราว 40 เปอร์เซ็นต์
สิมคานนินกล่าวว่าทีมงานรู้สึกแปลกใจมากจากข้อมูลที่พบนี้ เธอกล่าวว่าทีมงานแปลกใจเพราะโดยทั่วไปแล้ว เรามักมองว่าพืชต่างถิ่นทุกชนิดมีผลกระทบทางลบต่อสภาพแวดล้อมท้องถิ่น แต่ในกรณีของกกยุโรปสายพันธุ์นี้ ทีมงานกลับพบว่าสามารถเก็บกักเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วกว่าปกติ
เพื่อให้เกิดความชัดเจน สิมคานนินไม่ได้กล่าวว่าเป็นการดีที่จะปล่อยให้พืชต่างถิ่นเเพร่ระบาดจนทำให้พืชท้องถิ่นตายลง แต่การจัดการกับพืชต่างถิ่นไม่ง่ายเสมอไป
เธอกล่าวว่าปัญหานี้เป็นเรื่องซับซ้อนเพราะคำตอบที่ได้ไม่น่าพอใจนักหากเราต้องการคำตอบตรงๆแก่คำถามที่ว่าเราควรจะรักษากกต่างถิ่นนี้เอาไว้หรือควรกำจัดทิ้ง
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยของสถาบันสมิธโซเนียนนี้ชี้ว่าต้นกก “เฟร็คมายทีส” อาจจะมีประโยชน์มากกว่ากกสายพันธุ์ท้องถิ่นในการดูดซับแก๊สเรือนกระจกขณะที่โลกกำลังอุ่นขึ้นกว่าเดิมเเละปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็กำลังเพิ่มสูงขึ้น
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)