Your browser doesn’t support HTML5
การรักษาสายสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวข้ามรุ่น เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของชีวิตครอบครัวสมัยใหม่ โดยเฉพาะเมื่อมีระยะทางที่ห่างไกลอย่างประเทศไทยและสหรัฐฯ เข้ามาเป็นตัวแปร แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ (Champ Ensminger) ชายหนุ่มเชื้อสายไทยในอเมริกา เลือกใช้การเล่าเรื่องเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคุณยาย ผ่านสารคดีขนาดสั้น ที่ไปคว้ารางวัลมาจากเทศกาลภาพยนตร์ในอเมริกา
นิลวรรณ ภิญโญ เป็นเจ้าของกิจการแหนมและหมูยอ “ภิญโญ” ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักในจังหวัดเชียงใหม่
แต่สำหรับผู้ชมในสหรัฐฯ หลายคนได้ทำความรู้จักกับ นิลวรรณ เป็นครั้งแรกผ่านสารคดีขนาดสั้นเรื่อง “ยายนิล” (Yai Nin) ที่ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ในปีที่ผ่านมา ผลงานของ แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ (Champ Ensminger) หลานชายชาวอเมริกันเชื้อสายไทยของยายนิล ที่อาศัยอยู่ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน
"ผมคิดมาตลอดว่า แนวของสารคดีเรื่องนี้จะไม่ใช่ชีวประวัติขนาดยาวของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่จะเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของชีวิต คล้าย ๆ กับวันหนึ่งในชีวิตของคุณยาย ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ของผม...และสิ่งต่าง ๆ ที่ผมเก็บตกจากการสังเกตเวลาผมใช้เวลากับคุณยาย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ผมยังเป็นเด็ก หรือตอนที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยช่วงปี พ.ศ.2557-2558" แชมป์กล่าวกับวีโอเอไทยผ่านการสัมภาษณ์ทางวีดีโอ
“ยายนิล” เป็นสารคดีขนาดสั้นเรื่องแรกของแชมป์ ซึ่งเรียนจบด้านการศึกษาภาพยนตร์และมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเทิล (University of Washington in Seattle) และมีประสบการณ์ทำงานในแวดวงการผลิตเนื้อหา (content production)ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายปี
"คุณยายผมไม่ใช่คนเงียบ ๆ ขี้อาย แต่เป็นคนที่ทำให้เราเห็นเลยว่ายายเป็นนักธุรกิจหญิงที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจและรู้สึกดีที่ได้เห็น ผมมีเพื่อนบางคนที่มาบอกผมเลยว่า คุณยายเป็นคนที่น่าทึ่งมากนะ นายควรจะทำเรื่องเกี่ยวกับคุณยายซักเรื่อง เรียกได้ว่าเป็นแรงสนับสนุนและกำลังใจในตอนแรก ๆ หลายคนได้เห็นมาดของคุณยายของผม ผู้หญิงไทยตัวเล็ก ๆ ที่ใส่ชุดทำงานไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน"
ชายหนุ่มเชื้อสายไทยวัย 32 ปีเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่เมืองสโปแคน (Spokane) รัฐวอชิงตันเมื่อเขามีอายุได้เพียง 2 ปี เขาเล่าว่า ในช่วงเวลาที่เขาไปอาศัยอยู่กับยายที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อหลายปีก่อน เขาได้ใช้เวลากับยายมากขึ้น และได้เห็นยายในแง่มุมและบทบาทอื่น ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น การเป็นนักธุรกิจหญิงในวัย 85 ปี ที่ต้องดูแลกิจการด้วยตัวเองหลังจากที่คุณตาเสียชีวิตไป บางครั้งเป็นเหมือน “แม่” ของคนงาน ในขณะที่ลูกหลานแท้ ๆ ส่วนใหญ่อยู่ไกลถึงอเมริกา
Your browser doesn’t support HTML5
สารคดีเรื่อง "ยายนิล" ใช้เวลาถ่ายทำในเชียงใหม่จริง ๆ เพียงแค่ 3 วัน แต่กระบวนการคิด วางแผน ตัดต่อ และงานหลังการถ่ายทำ หรือ post-production อื่น ๆ ใช้เวลารวมแล้วประมาณสองปีครึ่ง
"เราใช้เวลาพูดคุยกับคุณยายก่อนการสัมภาษณ์จริง เพื่อให้คุณยายรู้สึกสบายใจและสะดวกใจที่จะให้สัมภาษณ์หน้ากล้อง...โชคดีที่ยายเป็นคนที่ชอบเข้าสังคม ยายเลยรับมือกับความโกลาหลของการถ่ายทำและกองถ่ายที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้าได้เป็นอย่างดี"
การถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ ยังทำให้แชมป์ได้รู้ด้วยว่า ยายนิลเคยเป็นนักพากษ์เสียงละครวิทยุที่เชียงใหม่ สมัยยังเป็นสาว ๆ อีกด้วย
ในการถ่ายทำ แชมป์ยังได้คุณแม่มาช่วยทำหน้าที่เป็นคนถามคำถาม และสื่อสารระหว่างยายและหลาน เพราะข้อจำกัดด้านภาษาของตัวเอง ซึ่งเขามองว่าแม่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมข้ามรุ่นระหว่างเขาและยายได้เป็นอย่างดี
ส่วนหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้ ยังพูดถึงความท้าทายของครอบครัวไทยในสองทวีป
ครอบครัวของแชมป์ไม่ต่างจากครอบครัวผู้อพยพคนไทยในอเมริกา ที่ปู่ย่าตายายมักจะมาเยี่ยม หรือมาช่วยเลี้ยงหลานเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน แต่ด้วยวัยที่มากขึ้นของคุณยาย การเดินทางระหว่างเชียงใหม่ - ซีแอตเทิล จึงไม่สะดวกเหมือนก่อน ต้องหันไปอาศัยเทคโนโลยี เช่นการส่งข้อความผ่านแอพลิเคชันไลน์ และการวีดีโอคอล ทดแทน ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างยายและหลานก็เริ่มห่างเหินไป
ในตอนหนึ่งของสารคดีความยาว 13 นาที มีฉากที่นิลวรรณ ภิญโญ นั่งดูรูปหลาน ๆ ในอเมริกาที่เธอเคยไปช่วยเลี้ยงดู
"ลูกหลาน ใหญ่กันหมดแล้ว เป็นหนุ่มเป็นสาวเรียนจบ ทำงานทำการก็ดีใจตวยนะ นึกถึงเขา เลี้ยงเขาเมื่อน้อย ๆ เขาเกิดอเมริกาหมดละอ่อนหมู่นี้ (เลี้ยงเขาเมื่อยังเด็ก ๆ เขาเกิดที่อเมริกากันหมดเด็กพวกนี้) การที่จะปิ๊กมาอยู่เมืองไทยท่าจะยาก ละอ่อนเกิดฮั่นนอะ (การจะกลับมาอยู่เมืองไทยคงยาก เด็กเกิดที่โน่น) ความเจริญของเขา เขาเป็นคนปู้นหมดละ (เขาเป็นคนที่โน่นหมดละ) แต่ก็มีเกิ่งไทย (แต่ก็มีครึ่งไทย) ที่ดูกิริยามารยาท ดูฮู้ว่าเป็นคนไทยแท้ ไม่กระโดกกระดาก แม่ชอบ" นิลวรรณกล่าวเป็นภาษาเหนือ
การทำสารคดีเรื่องนี้ ยังช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแชมป์และคุณยาย
"ผมว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจด้วยว่าเราเป็นคนไทย ในมุมมองของคุณยาย และเตือนให้เราเห็นความสำคัญของคุณยาย ในฐานะแม่ไก่ของครอบครัวและของกิจการ เป็นคนที่คอยชื่นชมความสำเร็จและความเป็นไปของเราคนไทยในอเมริกาอยู่ห่าง ๆ"
สารคดี “ยายนิล” ออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยคว้ารางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในเทศกาล Seattle Asian American Film Festival และ DC Asian Pacific American Festival ก่อนที่จะเปิดให้คนดูทั่วไปสามารถชมผ่านทางเว็บไซต์ yainindoc.com ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย