ผลสำรวจระบุนักเรียนอเมริกันยังสนใจเรียนในต่างประเทศน้อย ขณะที่หลายสถาบันในอเมริกาเน้นปรับหลักสูตรเพื่อนักเรียนต่างชาติ

ขณะเดียวกัน ในสหรัฐฯ มีนักเรียนต่างชาติมากกว่าล้านคน รวมถึงนักเรียนไทยประมาณ 7,000 - 8,000 คน

Your browser doesn’t support HTML5

รายงานเกี่ยวกับการศึกษาต่างประเทศ

การสำรวจไม่นานนี้ของ American Council on Education (ACE) ชี้ว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ ในอเมริกากำลังพยายามขับเคลื่อนความพยายามส่งนักศึกษาสหรัฐฯ ไปต่างประเทศ และรับนักเรียนต่างชาติมาเรียนในอเมริกาควบคู่กันไป

ผลการตอบแบบสอบถามของมหาวิทยาลัยอเมริกัน 1,100 แห่ง โดย ACE ระบุว่า กว่าร้อยละ 70 เห็นว่างานด้านการติดต่อต่างประเทศอยู่ในระดับ “สูง” หรือ “สูงมาก”

อย่างไรก็ตาม โครงการที่ได้รับความสำคัญมากเป็นงานเกี่ยวกับการรับนักเรียนต่างชาติมาเรียนที่อเมริกามากกว่าการส่งนักศึกษาสหรัฐฯ ไปต่างประเทศ

ขณะนี้มีนักเรียนต่างชาติอยู่ในอเมริกากว่าหนึ่งล้านคน ในจำนวนดังกล่าว 328,000 คนมาจากจีน และ 165,000 มาจากอินเดีย ตามมาด้วยซาอุดิอาระเบีย และเกาหลีใต้

จำนวนนักเรียนไทยในอเมริกาอยู่ราว 7,000 ถึง 8,000 คน ส่วนญี่ปุ่นมีนักเรียนเกือบ 20,000 คนในสหรัฐฯ ตามหลังไต้หวันไม่มากนัก

ในทางตรงข้าม นักเรียนอเมริกันจำนวนกว่า 310,000 คน เรียนอยู่ในต่างประเทศ ร้อยละ 63 ของนักเรียนเหล่านี้ใช้เวลาช่วงฤดูร้อน ซึ่งปกติกินเวลาประมาณ 8 สัปดาห์ แต่มีเพียงร้อยละ 2.5 ที่เรียนต่างประเทศเต็มเวลาหนึ่งปี

มากกว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนอเมริกันที่เรียนต่างประเทศเลือกที่จะไปยุโรป ร้อยละ 16 ไปลาตินอเมริกา หรือประเทศแถบทะเลแคริเบียน เพียง 11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไปทวีปเอเชีย

เห็นได้ชัดว่านักเรียนต่างชาติเดินทางเข้ามาสหรัฐฯ มากกว่านักเรียนขาออก ด้วยเหตุนี้ รายงานระบุว่าสถาบันต่างๆ สนใจที่จะปรับให้บุคคลากรและหลักสูตรการเรียนการสอนสนองตอบกับนักศึกษาต่างประเทศมากกว่า

มหาวิทยาลัยฮอฟสตร้า (Hofstra University) ในนิวยอร์ค เพิ่งมีนักศึกษารุ่นแรกที่ได้ปริญญาคู่สองสถาบันจากการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต้าเลี่ยนในประเทศจีน

นอกจากนั้นวงการการศึกษาสหรัฐฯ ยังเห็นความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างสองมหาวิทยาลัยดังแห่งนครนิวยอร์ก คือ โคลัมเบียและนิวยอร์กยูนิเวอร์ซิตี้ กับสถาบันฝรั่งเศส Science Po

ประเทศที่มีสถาบันพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยในอเมริกาหลักๆ ประกอบด้วย จีน ฝรั่งเศส ตุรกี เยอรมนี และเกาหลีใต้

รายงานของ American Council on Education ชี้ว่าการสร้างระบบรองรับการเรียนการสอนนักเรียนต่างชาติ แม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังมีส่วนที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ ตัวอย่างเช่น นักการศึกษาต้องการให้เกิดการประสานด้านวัฒนธรรมระหว่างนักเรียนสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นเจ้าบ้านกับนักศึกษาต่างชาติที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก

ประเด็นเรื่องการสร้างความพึงพอใจของหมู่นักเรียนต่างชาติในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอเมริกัน ถือเป็นหัวข้อสำคัญ เพราะนักเรียนต่างชาตินำรายได้มาให้สหรัฐฯ รวมกว่าสามหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

(รายงานโดย Kathleen Struck / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)