ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมองคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันพุธในฐานะหนึ่งตัวอย่างของการใช้องค์กรอิสระและประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอาวุธทางการเมือง ไม่ได้แก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย และยิ่งทำให้ความเคลือบแคลงใจในฐานอำนาจดั้งเดิมขยายตัว
สถานภาพทางการเมืองที่ละลายไป ทำให้แกนนำและสมาชิกพรรคที่เหลืออยู่ต้องโยกย้ายถ่ายเทตัวเองไปยังพรรคใหม่ ซึ่งจะมีการชี้แจงต่อไปในวันที่ 9 สิงหาคม ตามการแถลงของศิริกัญญา ตันสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลในวันพุธ
การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคจำนวน 11 คน ที่มี 5 คน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในระบบบัญชีรายชื่อ จะทำให้ ส.ส. ในสังกัดพรรคก้าวไกลหายไปทันที 5 คน เนื่องจากไม่มีบัญชีรายชื่อที่จะขึ้นมารับตำแหน่งแทนเพราะสิ้นสภาพทางการเมืองไปแล้ว
Your browser doesn’t support HTML5
สำหรับผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองไทย คำวินิจฉัยของศาล คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการทำลายกันทางการเมือง ที่เกิดขึ้นได้แม้กับพรรคที่ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง
เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์อาวุโสจาก Coral Bell School of Asia Pacific Affairs, มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองการที่พรรคก้าวไกลตกอยู่ในสถานะแบบนี้เพราะว่าเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมสูงและมีนโยบายในเชิงปรับรื้อโครงสร้างหลายอย่างที่อาจสั่นสะเทือนขั้วอำนาจเดิมในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
เรย์มอนด์กล่าวว่า “มันจะเป็นการสะเทือนครั้งใหญ่ หากตัวแสดงเช่นทหารหรือสถาบันกษัตริย์จะต้องถูกปฏิรูป…และหนึ่งในเครื่องมือที่จะสามารถใช้ได้ก็คือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
ปัจจุบัน ม.112 อยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ มีโทษจำคุก 3-15 ปี แก่การกระทำที่ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายแก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ ซึ่งบ่อยครั้งถูกประชาคมนานาชาติตั้งคำถามถึงปัญหาในการตีความ และความเป็นการเมืองในกระบวนการพิจารณาคดี
หลักใหญ่ใจความที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายนี้ ได้แก่การลดโทษ จำกัดหน่วยงานที่มีหน้าที่ร้องเรียน แทนที่จะให้ใครก็ได้เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ และเพิ่มบทยกเว้นความผิดหากการวิจารณ์เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ผู้สังเกตการณ์การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทยมาราวสองทศวรรษ มองว่าคำตัดสินขยายขอบเขตการปิดกั้นการตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ ถึงขั้นที่การเสนอกฎหมายที่ไม่เคยได้รับการรับรองจากรัฐสภา ก็ยังได้รับโทษถึงขั้นยุบพรรค
ฮาเบอร์คอร์นกล่าวว่า “ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดรับในข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนจะมีความคิดเหมือนกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับความเป็นไทย กับชาติไทย ข้อเท็จจริงก็คือ มีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์นั้นหลายแบบมาก ๆ”
คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังคำวินิจฉัยในเดือนมกราคม 2567 ที่มองว่าข้อเสนอแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองและมีคำสั่งให้หยุดทำ และคำวินิจฉัยในปี 2564 ที่ระบุว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของการชุมนุมที่ปะทุขึ้นหนึ่งปีก่อนหน้านั้น เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง
หนึ่งในข้อเรียกร้องที่มีขึ้นนับตั้งแต่กระแสการชุมนุมในปี 2563 คือการทำให้การตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา หลังมีกฎหมายให้ปรับเปลี่ยนและขยายส่วนงานราชการในพระองค์และ ที่รวมถึงการโอนกรมทหารราบสองหน่วย และการปรับเปลี่ยนสถานภาพของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนี้ พรรคก้าวไกลมีบทบาททางนิติบัญญัติหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นการซักถามเรื่องงบประมาณรัฐที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และหน่วยราชการในพระองค์ รวมถึงการเสนอแก้ไข ม.112 ก่อนจะได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุด และถูกยุบพรรคในเวลาต่อมา
โจชัว เคอร์ลันท์ซิก นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสถาบัน Council on Foreign Relations มองว่า คำตัดสินในวันพุธไม่ได้ทำให้ความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจของประชาชนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์คลี่คลายลง แต่จะยิ่งทำให้ความรู้สึกนั้น ขยายไปสู่กลุ่มก้อนฝ่ายนิยมกษัตริย์ รวมถึงการที่ผู้มีอำนาจที่พยายามเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลง
เคอร์ลันท์ซิกกล่าวว่า “ผมคิดว่า ท้ายที่สุด ความเห็นของประชาชนกำลังเปลี่ยน และในจุด ๆ หนึ่ง ผมไม่รู้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการประท้วงบนท้องถนน คุณทำได้แค่ยื้อยุดความคิดที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงในประเทศไทย พวกเขายื้อเอาไว้เป็นเวลาค่อนข้างนานแล้ว แต่ผมไม่คิดว่า (การยื้อ) จะดำเนินไปตลอดกาล”
คำวินิจฉัยยุบพรรค นำมาซึ่งท่าทีจากประชาคมนานาประเทศ เช่นสหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพยุโรป รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ห่วงกังวลและไม่สบายใจที่กระบวนการประชาธิปไตยของไทยถดถอยลง
ในวันพฤหัสบดี นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวกระทำไปตามกลไกและหลักการของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้ และไทยจะยังดำเนินตามค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิพลเมืองในฐานะรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า “เราเชื่อมั่นว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะเคารพในคำพิพากษา และร่วมกันนำประเทศไปข้างหน้าตามวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป”
เรย์มอนด์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองว่า “ตราบใดที่ไทยยังมีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยอยู่บ้าง ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็คงไม่ต้องการกดดันผู้นำไทยมากจนเกินไป ส่วนหนึ่งเพราะภูมิรัฐศาสตร์ทุกวันนี้ที่มีความกังวลว่าไทยใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และนั่นเป็นปัจจัยที่จะกำหนดแนวทางของรัฐบาลต่างชาติที่มีต่อไทย”
องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ มีแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรหลัก ๆ ของไทย สื่อสารอย่างเปิดเผยต่อรัฐบาลกรุงเทพฯ ว่าคำตัดสินดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความพยายามที่ไทยจะขอเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2025-2027
ในท่อนหนึ่งของคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้นักวิชาการ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศไม่ว่าในระดับใด ต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศการแสดงความเห็นใด ๆ ย่อมต้องมีมารยาทสากลทางการทูตและการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน