Your browser doesn’t support HTML5
ท่ามกลางความเเตกแยกทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ บรรดานักสังคมวิทยาชี้ว่า ผู้คนหันไปรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่สะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองเดียวกับตน และหลีกเลี่ยงข้อมูลข่าวสารที่เสนอความคิดเห็นตรงข้าม
แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ลักษณะการเลือกรับข้อมูลข่าวสารเเบบนี้ทำให้ขาดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถหาทางร่วมมือกันหรือปรองดองกันได้
ผลการศึกษาชิ้นใหม่จัดทำโดยทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon พบว่า เมื่อมาถึงเรื่องการเมือง คนอเมริกันนอกจากจะหลีกเลี่ยงไม่รับข้อมูลที่อาจจะเป็นประโยชน์แล้ว พวกเขายังเฉยเมยไม่ใส่ใจกับข้อมูลนั้นๆ อีกด้วย
เช่นเดียวกับที่คนที่กำลังลดอาหารไม่ยอมอ่านดูว่าขนมหวานชิ้นนั้นมีปริมาณแคลอรี่เท่าไร หรือคนที่สมาชิกครอบครัวป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรมอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ยอมเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค เพราะกลัวว่าผลการตรวจจะชี้ถึงความเสี่ยงทางสุขภาพ
ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Economics Literature ผู้ร่างผลการศึกษาอธิบายว่า คนมักจะหลีกเลี่ยงรับข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อความสุขทางกายและใจอย่างไร? และทำไม?
George Loewenstein ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า คนเรามักเลี่ยงข้อมูลที่แม้ว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ หากมองว่าข้อมูลดังกล่าวรับฟังไม่ได้ เพราะค้านกับสิ่งที่ตนเชื่อ
Loewenstein และทีมงานพบว่า เมื่อใดที่คนเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ตรงข้ามกับความเชื่อของตน ก็มักเลือกที่จะไม่ใส่ใจ โดยยกตัวอย่างกรณีที่คนจำนวนมากไม่เชื่อหรือคลางใจเกี่ยวกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน
และเช่นเดียวกัน คนเราอาจยอมรับข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เพียงเพราะว่าเป็นข้อมูลที่ตรงกับความคิดเห็นและความเชื่อของตน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า น่าจะมีเหตุผลที่เข้าใจได้หลายอย่างที่ทำให้คนหลีกเลี่ยงข้อมูล การไม่ไปตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม ทำให้คนบางคนใช้ชีวิตอย่างเต็มที่จนกระทั่งไม่สามารถละเลยอาการเจ็บป่วยต่อไปได้อีก
และนักลงทุนค้าหุ้นที่หลีกเลี่ยงไม่ติดตามข่าวตลาดหุ้น เพราะไม่ต้องการแห่ขายหุ้นเพราะมีกระแสข่าวว่าราคาหุ้นจะตก
David Hagmann ผู้ร่วมร่างรายงานผลการศึกษานี้ กล่าวว่า การยัดเยียดข้อมูลที่ค้านกับความคิดเห็นของคนๆ นั้น อาจจะยิ่งทำให้ผู้รับสร้างเกราะกำบังขึ้นมา และหลีกเลี่ยงไม่ยอมอ่านข้อมูลดังกล่าวหรือเลิกใส่ใจไปเลย
เขากล่าวว่า เพื่อลดความเเตกแยกด้านความคิดความเชื่อทางการเมือง เราควรหาทางเพิ่มโอกาสให้คนได้รับข้อมูลที่ขัดแย้งกัน และกระตุ้นให้คนเปิดรับข้อมูลที่ท้าทายความเชื่อกับสิ่งที่ต้องการเชื่อให้มากขึ้น
(รายงานโดย Faith Lapidus / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)