ทีมนักวิจัยอเมริกันได้ศึกษานิสัยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนอเมริกันวัยผู้ใหญ่อายุ 19-32 ปี จำนวน 1,787 คน โดยตั้งคำถามว่าพวกเขาใช้สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม 11 สื่ออย่างไรบ้าง?
สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้รวมถึง เฟสบุ้ค ยูทูบ อินสตาเเกรม สเเน็ปแชท ทวิตเตอร์ เเละลิงค์อิน
หลังจากควบคุมปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะประชากรหลายอย่างแล้ว ทีมนักวิจัยพบว่าคนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่าสองชั่วโมงต่อวัน รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยวทางสังคมมากกว่าคนที่ใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์น้อยกว่าครึ่งชั่วโมงต่อวัน
คนที่เข้าไปดูสื่อสังคมออนไลน์สื่อต่างๆ สัปดาห์ละ 58 ครั้งหรือมากกว่านั้น รู้สึกว่าตนโดดเดี่ยวทางสังคมมากขึ้นถึงราวสามเท่าตัว เมื่อเทียบกับคนที่เข้าไปใช้สื่อสังคมออนไลน์น้อยกว่าเก้าครั้งต่อสัปดาห์
ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Preventative Medicine ทีมนักวิจัยจากภาควิชาการเเพทย์ มหาวิทยาลัย Pittsburgh กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสุงขึ้น
Dr. Brian A. Primack ผู้อำนวยการเเห่งศูนย์เพื่อการวิจัยเกี่ยวกับสื่อมวลชน เทคโนโลยีและสุขภาพ มหาวิทยาลัย Pittsburgh กล่าวว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษา เพราะปัญหาสุขภาพจิตและความโดดเดี่ยวทางสังคม อยู่ในขั้นที่กำลังระบาดหนักอย่างรวดเร็วในคนวัยหนุ่มสาวในอเมริกา
Dr. Primack กล่าวอีกว่า คนเราเป็นมนุษย์สังคมโดยธรรมชาติแต่วิถีชีวิตสมัยใหม่กลับทำให้คนปลีกตัวออกจากกันมากขึ้นเเทนที่จะดึงคนเข้าหากัน และในขณะที่สื่อสังคมออนไลน์อาจจะดูเหมือนว่าเป็นตัวสร้างโอกาสในการลดความโดดเดี่ยวทางสังคมลง ผลการศึกษานี้กลับพบว่าสื่อสังคมออนไลน์ไม่น่าจะเป็นทางออกที่คนมองหา
ด้าน Dr. Elizabeth Miller ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Pittsburgh กล่าวว่า ทีมนักวิจัยยังไม่รู้ว่าอะไรมาก่อนกันระหว่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือความรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยวทางสังคม
Dr. Miller กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าคนหนุ่มสาวที่รู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมเป็นทุนเดิมอยู่เเล้วหันไปใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรืออาจเป็นไปได้เช่นกันที่การใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นของคนหนุ่มสาวเหล่านี้กลายเป็นต้นเหตุให้รู้สึกโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก หรือทั้งสองอย่างรวมกัน
แต่ถึงเเม้ว่าความโดดเดี่ยวทางสังคมจะเกิดขึ้นก่อน การใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมลง
ทีมนักวิจัยชี้ว่า สื่อสังคมออนไลน์อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคม เพราะไปทดแทนความสัมพันธ์ทางสังคมเเบบดั้งเดิม ความรู้สึกว่าตนเองไม่มีส่วนร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนหลังจากเห็นรูปถ่ายที่เพื่อนๆ กำลังสนุกสนานในงานสังคมที่ตนเองไม่ได้รับเชิญ
หรือสื่อสังคมออนไลน์อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าคนอื่นมีชีวิตที่มีความสุขมากกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า
ท้ายสุด Dr. Primack แห่งมหาวิทยาลัย Pittsburgh กล่าวว่า ผลการศึกษานี้เป็นเพียงเครื่องช่วยเตือนเราว่า ในภาพรวมเเล้ว การใช้สื่อสังคมออนไลน์มีเเนวโน้มที่ก่อให้เกิดความโดดเดี่ยวทางสังคมเพิ่มขึ้น และไม่ช่วยความโดดเดี่ยวทางสังคมลงแต่อย่างใด
(รายงานโดย VOA News / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)