Your browser doesn’t support HTML5
นักวิทยาศาสตร์พัฒนาแผ่นติดผิวหนังเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งในที่สุดแล้วอาจใช้แทนการฉีดวัคซีนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
แพทย์และคนในภาคสาธารณสุขหวังว่า หากประชาชนมองว่าการป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สามารถทำได้อย่างสะดวก เหมือนการติดพลาสเตอร์ยา จำนวนผู้ได้รับการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ไม่ถึงครึ่งในกลุ่มผู้ใหญ่
อาจารย์ Nadine Rouphael หัวหน้าทีมวิจัยประสิทธิภาพเรื่องนี้ที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Emory ในรัฐจอร์เจียของสหรัฐฯ กล่าวว่าแผ่นติดผิวหนังเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่คณะทำงานของเธอกำลังทดสอบ มีความคล้าย “แผ่นแปะผิวหนังเพื่อการเลิกบุหรี่” หรือ “nicotine patch”
ทีมงานของเธอกำลังทดสอบการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ผ่านแผ่นแปะผิวหนังที่มีเข็มขนาดเล็กมากอยู่บนพลาสเตอร์เพื่อส่งยาเข้าร่างกาย
เธอบอกว่า ทั้งเข็มขนาดเล็กและตัวยาจะซึมผ่านผิวหนังอย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่สะดวกว่าการฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่
ปัจจุบันคนวัยผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 60 ในสหรัฐฯ ไม่ไปฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่ ส่วนผู้ไปฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่งรู้สึกเจ็บและมีผื่นขึ้น หรือเกิดอาการบวมแดงบริเวณผิวหนังที่ถูกฉีดยา
งานวิจัยของอาจารย์ Nadine Rouphael ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ The Lancet ระบุว่า 6 เดือนหลังจากการรับยาผ่านแผ่นแปะผิวหนัง คนไข้ยังคงมีภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกาย เช่นเดียวกับผู้รับวัคซีนผ่านการฉีดยา
นั่นหมายความว่าการใช้แผ่นแปะได้ผลเทียบได้กับการฉีดยา
ศาสตราจารย์ Rouphael กล่าวว่า คนจำนวนมากที่เข้าร่วมการทดลองเป็นผู้ที่กลัวเข็มฉีดยา และพวกเขาชอบการใช้แผ่นแปะผิวหนัง โดยร้อยละ 70 ของผู้รับยาผ่านพลาสเตอร์ที่ว่านี้ชอบวิธีนี้มากการการไปฉีดวัคซีน
ความสะดวกอีกประการของเทคโนโลยีนี้คือ แผ่นแปะป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่จำเป็นต้องถูกเก็บในในตู้แช่รักษาความเย็น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายพลาสเตอร์ที่ชั้นสินค้าหรือส่งผ่านไปรษณีย์ได้
นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัท Global Center for Medical Innovation ผู้ผลิตแปะป้องกันไข้หวัดใหญ่ กำลังพิจารณาการใช้เทคโนโลยีนี้สำหรับป้องกันโรคอื่นๆ เช่น โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมันเป็นต้น
(รายงานโดย Jessica Berman / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง )