นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาแผ่นแปะผิวหนังที่มีรูปร่างคล้ายพลาสเตอร์ปิดแผล แต่จะสามารถตรวจดูตัวชี้วัดทางชีวภาพของร่างกาย ได้จากเหงื่อของผู้ที่ใช้ และช่วยบอกได้ว่่าร่างกายของผู้ใช้แผ่นปะขาดน้ำหรือไม่ รวมทั้งวัดระดับน้ำตาลในโลหิต และตรวจหาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์ต้องเจาะเลือดไปตรวจเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายของเรา แต่เหงื่อของมนุษย์เรามีตัวชี้วัดทางชีวภาพเช่นเดียวกับเลือด
แผ่นที่กำลังพัฒนากันอยู่นี้ เดิมคิดทำขึ้นมาเพื่อใช้กับนักกีฬาเป็นหลัก แต่ในขณะนี้ แนวคิดในการประยุกต์ใช้ขยายวงกว้างออกไป รวมถึงการแพทย์ และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางด้วย
บทความในวารสาร Science Translational Medicine บรรยายแผ่นแปะผิวหนังที่ว่านี้ไว้ว่า ทำจากสารที่ยืดหยุ่น มีขนาดและความหนาเท่ากับเหรียญสลึงของเงินดอลลาร์ และสามารถแปะไว้ที่หน้าแขนหรือหลัง เหมือนกับพลาสเตอร์ปิดแผล เพื่อเก็บและวิเคราะห์เหงื่อ
นักวิทยาศาสตร์ John Rogers ที่มหาวิทยาลัย Northwestern ในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในทีมงาน อธิบายว่า ภายในแผ่นนี้คือเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่เก็บและวิเคราะห์สารเคมีในตัวชี้วัดทางชีวภาพที่อยู่ในเหงื่อ
สารเคมีที่วัดคือ pH และคลอไรด์ สัญญาณบ่งชี้ระดับสารประกอบด้วยน้ำ แลคเทต ซึ่งแสดงความอดทนในการออกกำลังกาย กลูโคส และปริมาณเหงื่อที่หลั่งไหลออกมา
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ยังอาจใช้แผ่นปะนี้วินิจฉัยโรคปอด Cystic Fibrosis โดยการวิเคราะห์ปริมาณคลอไรด์ในเหงื่อได้ด้วย
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ไร้สายนี้จะส่งผลการวัดเป็นรหัสสีไปที่ app ในสมาร์ทโฟน ซึ่งจะวิเคราะห์ผลการวัดนั้นต่อไป
John Rogers บอกว่า มีหลายอุตสาหกรรมที่แสดงความสนใจอยากจะใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ที่สนใจใช้เครื่องวัดนี้กับเหงื่อ เพื่อประเมินการทำงานของยาดับกลิ่นตัวและอื่นๆ
และมีสัญญากับทางการทหาร ที่สนใจจะติดตามดูสุขภาพของทหารในสภาพสงครามอย่างต่อเนื่องด้วย
นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้บอกว่า ปัญหาท้าทายที่กำลังขบคิดในขณะนี้ คือจะหาเหงื่อมาได้อย่างไร โดยไม่ออกกำลังกาย อย่างเช่นผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้เชื่อว่า จะมีแผ่นแปะราคาถูกที่ใช้แล้วทิ้งได้ ออกมาให้ได้ใช้กันภายในเวลาปีสองปีข้างหน้านี้