Your browser doesn’t support HTML5
อินโดนีเซียตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ให้แก่ประชากรผู้ใหญ่วัยทำงานก่อนผู้สูงอายุ แผนการนี้สวนทางกับโครงการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ เช่นสหรัฐฯ และอังกฤษซึ่งให้ความสำคัญกับประชากรสูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากโรคนี้
โครงการของอินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรผู้ใหญ่อายุ 18-59 ปีต่อจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและข้าราชการ รัฐบาลอินโดฯ หวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้ประชากรจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้นตลอดจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นด้วย
Mayo Clinic ตั้งข้อสังเกตว่า herd immunityหรือภูมิคุ้มกันหมู่ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้การแพร่ระบาดจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นการจะทำให้ทั้งชุมชนได้รับการปกป้องไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเท่านั้น
ทั้งนี้อินโดนีเซียวางแผนที่จะเริ่มฉีดวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาโดย Sinovac Biotech ของประเทศจีน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าวว่าพวกเขายังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มคนสูงอายุ เพราะในตอนนี้อินโดนีเซียได้ทำการทดลองเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี
เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข Siti Nadia Tarmizi กล่าวกับสำนักข่าว Reuters ว่ารัฐบาลอินโดฯ จะรอคำแนะนำจากหน่วยงานกำกับและดูแลยาของประเทศ ก่อนที่จะตัดสินใจแผนการฉีดวัคซีนสำหรับประชากรสูงอายุ
ส่วนประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ เริ่มโครงการฉีดวัคซีนโดยการใช้วัคซีนที่พัฒนาโดย Pfizer-BioNTech ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่น่าพอใจในกลุ่มคนทุกวัย
จนถึงขณะนี้อินโดนีเซียสามารถสั่งซื้อวัคซีนของ Sinovac ได้เท่านั้น โดยมีข้อตกลงที่จะได้รับวัคซีน CoronaVac จากบริษัทนี้จำนวน 125.5 ล้านโดส และการจัดส่งครั้งแรกจำนวน 3 ล้านโดสได้มาถึงที่อินโดฯ แล้ว
อย่างไรก็ดี คาดว่าวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech ชุดแรกจะมาถึงอินโดนีเซียในช่วงไตรมาสที่สาม และวัคซีนที่พัฒนาโดย AstraZeneca และมหาวิทยาลัย Oxford คาดว่าจะเริ่มส่งมาในช่วงไตรมาสที่สอง
Peter Collignon ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัย Australian National University กล่าวว่า แม้ว่าแผนการฉีดวัคซีนของอินโดนีเซียจะสามารถชะลอการแพร่ระบาดของโรค แต่อาจไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่าการที่โครงการฉีดวัคซีนของอินโดนีเซียแตกต่างจากสหรัฐฯ และยุโรปนั้น อาจเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพราะจะสามารถบอกได้ว่าการที่อินโดนีเซียฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรวัยทำงานเป็นอันดับแรกนั้น จะได้ผลดีกว่าในยุโรปหรือสหรัฐฯ หรือไม่
ศาสตราจารย์ Dale Fisher แห่งโรงเรียนแพทย์ Yong Loo Lin School of Medicine ของมหาวิทยาลัย National University of Singapore บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เขาเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังแผนการฉีดวัคซีนของอินโดนีเซีย กล่าวคือประชากรผู้ใหญ่วัยทำงานโดยทั่วไปจะมีความกระตือรือล้น ชอบเข้าสังคม และเดินทางไปไหนมาไหนมากกว่า ดังนั้นกลยุทธ์นี้น่าจะช่วยลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้รวดเร็วกว่าการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรผู้สูงอายุ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดฯ หวังว่ากลยุทธ์ในการฉีดวัคซีนให้บุคคลที่มีความเคลื่อนไหวทางสังคมและเศรษฐกิจมากกว่านั้น อาจนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างรวดเร็วกว่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซียกล่าวว่า อินโดฯ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับประชากร 181.5 ล้านคนหรือประมาณ 67 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าจะต้องใช้วัคซีนเกือบ 427 ล้านโดส
ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่าแผนการนี้จะสามารถนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างรวดเร็วจริงหรือไม่ โดยจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้