เมื่อวันพุธ ทางการอินโดนีเซียตัดสินใจอนุญาตให้เรือบรรทุกชาวมุสลิมโรฮีนจา 120 คน ขึ้นจอดเทียบฝั่งได้ หลังเรือดังกล่าวลอยอยู่บริเวณชายฝั่งจังหวัดอาเจะฮ์มาแล้วหลายวัน ตามรายงานของสำนักข่าว Associated Press
อาร์เมด วิจายา หัวหน้าคณะทำงานด้านผู้ลี้ภัย กระทรวงการเมือง กฎหมาย และความมั่นคงของอินโดนีเซีย ระบุว่า อินโดนีเซียตัดสินใจให้เรือดังกล่าวขึ้นฝั่งเนื่องจากผู้โดยสารบนเรือเผชิญกับสภาพที่หนักหน่วง และผู้โดยสารส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก
ก่อนหน้านี้ ทางการท้องถิ่นเคยระบุว่าจะผลักดันเรือดังกล่าวกลับไปยังเขตน่านน้ำสากล แม้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR และกลุ่มสิทธิมนุษยชนจะเรียกร้องให้มีการนำเรือดังกล่าวขึ้นฝั่งก็ตาม
เมื่อวันอังคาร UNHCR ระบุถึงรายงานว่า เรือลำดังกล่าวมีน้ำรั่วและเครื่องยนต์เสียหาย และอยู่ในทะเลที่มีสภาพอากาศรุนแรงและอาจเสี่ยงพลิกคว่ำได้
นายแบดรัดดิน ยูนัส หัวหน้าชุมชนชาวประมงท้องถิ่น ระบุว่า ชาวประมงพบเรือลำนี้ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ ห่างจากชายฝั่งอำเภอบิรืนในจังหวัดอาเจะฮ์ราว 96 กิโลเมตร เขากล่าวว่า ชาวประมงไม่สามารถลากเรือไม้ที่ทรุดโทรมลำนี้ได้ แต่ให้อาหาร น้ำ และเสื้อผ้าแก่ผู้โดยสาร ที่ประกอบด้วยหญิง 60 คน เด็ก 51 คนและชายเก้าคน
นายยูนัสยังกล่าวด้วยว่า ชาวโรฮีนจากลุ่มนี้ต้องการไปมาเลเซีย และอยู่ในทะเลมา 28 วันก่อนที่เครื่องยนต์เรือจะเสียหาย
มูซักการ์ กานิ นายอำเภอบิรืน เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากตำรวจและกองทัพเรือ นำอาหาร ยา เครื่องยนต์ใหม่ และช่างมาช่วยซ่อมเรือ และอาจผลักดันเรือกลับไปยังน่านน้ำสากลหลังซ่อมเรือแล้ว โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มชาวโรฮิงจานี้อาจเป็นโรคโควิด-19
แผนการผลักดันเรือกลับน่านน้ำสากลถูกต่อต้านจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน เช่น กลุ่ม Civil Society Coalition ซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่มสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซียเก้ากลุ่ม ที่ระบุว่า ชาวโรฮิงจาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบาง ไร้รัฐ และควรได้รับการคุ้มครอง ในขณะที่ UNHCR ระบุว่า ทางองค์กรพร้อมช่วยรัฐบาลอินโดนีเซียและท้องถิ่นในการเตรียมรับชาวโรฮิงจา รวมถึงขั้นตอนการกักตัวด้วย
ทั้งนี้ ชาวมุสลิมโรฮีนจากว่า 700,000 คนหนีจากเมียนมาไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นช่วงที่กองทัพเมียนมาปฏิบัติการกวาดล้างเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มกบฎ มีการกล่าวหาว่า กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาทำการข่มขืนหมู่ สังหารหมู่ และเผาบ้านเรือนหลายพันหลังคาเรือน
ชาวโรฮีนจาพยายามเดินทางออกจากค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดในบังกลาเทศ และออกทะเลไปยังประเทศมุสลิมอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมาเลเซียเป็นเป้าหมายหลักแห่งหนึ่ง แม้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงจาจำนวนมากจะถูกกักตัวหลังขึ้นฝั่งมาเลเซียก็ตาม
ที่มา: สำนักข่าว Associated Press