ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาวโรฮีนจายื่นฟ้องเฟสบุ๊ค 150,000 ล้านดอลลาร์ ฐานไม่ควบคุมเนื้อหารุนแรง


FILE - A woman holds a smartphone with the Facebook logo in front of a display of Facebook's new rebrand logo Meta in this illustration picture taken October 28, 2021.
FILE - A woman holds a smartphone with the Facebook logo in front of a display of Facebook's new rebrand logo Meta in this illustration picture taken October 28, 2021.

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจากเมียนมา ยื่นฟ้องบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ (Meta Platforms) เจ้าของสื่อสังคมออนไลน์เฟสบุ๊ค​ เป็นเงิน 150,000 ล้านดอลลาร์ โดยพวกเขากล่าวหาว่าทางบริษัทไม่ดำเนินการใดๆ ต่อข้อความที่สร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮีนจา และมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

บริษัทกฎหมาย Edelson PC และบริษัท Fields PLLC ยื่นฟ้องแบบกลุ่มต่อบริษัทเมตา แพลทฟอร์มส์ ที่รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันจันทร์ โดยสำนวนฟ้องระบุว่า การที่บริษัทไม่สามารถควบคุมเนื้อหาได้และการออกแบบพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ของทางบริษัท มีส่วนทำให้ชุมชนชาวโรฮีนจาเผชิญกับความรุนแรงในโลกความเป็นจริง โดยกลุ่มทนายในอังกฤษยังส่งจดหมายแจ้งเตือนไปยังสำนักงานของในกรุงลอนดอนด้วย

เฟสบุ๊คไม่มีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวโดยทันที แต่ก่อนหน้านี้ทางบริษัทก็ยอมรับว่า ตนดำเนินการช้าเกินไปต่อการป้องกันข้อมูลเท็จและความเกลียดชังในเมียนมา แต่นับจากนั้นมา ทางบริษัทระบุว่าได้ดำเนินการเพื่อปราบปรามการใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ของบริษัทไปในทางที่ผิด รวมทั้งแบนกองทัพเมียนมาจากเฟสบุ๊คและอินสตาแกรมหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

เฟสบุ๊คระบุว่า เฟสบุ๊คไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เผยแพร่โดยผู้ใช้งานตามกฎหมายอินเตอร์เน็ตของสหรัฐฯ มาตรา 230 ที่ระบุว่า พื้นที่ออนไลน์ไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เผยแพร่โดยบุคคลที่สาม อย่างไรก็ตาม สำนวนฟ้องจากกลุ่มชาวโรฮีนจาครั้งนี้ระบุว่า จะอ้างอิงกฏหมายเมียนมาหากทางบริษัทสื่อสังคมออนไลน์อ้างกฎหมายสหรัฐฯ มาตราดังกล่าว

แม้ศาลสหรัฐฯ อาจพิจารณากฎหมายต่างชาติในคดีที่ความเสียหายจากบริษัทเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสองรายกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า พวกเขายังไม่ทราบถึงการชนะคดีก่อนหน้านี้ ที่กฎหมายต่างชาติถูกนำมาใช้กับคดีที่ยื่นฟ้องบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ที่อาจได้รับการปกป้องจากมาตรา 230

เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2017 ชาวมุสลิมโรฮีนจากว่า 730,000 คนลี้ภัยจากรัฐยะไข่ในเมียนมาหลังกองทัพปราบปรามพวกเขา ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ระบุว่า มีการสังหารหมู่และการข่มขืน กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังบันทึกการสังหารพลเรือนและการเผาหมู่บ้านด้วย ในขณะที่ทางการเมียนมาระบุว่า พวกเขารับมือกับการจลาจล และปฏิเสธว่าไม่ได้ก่อความรุนแรงอย่างเป็นระบบ

Rohingya refugees
Rohingya refugees

เมื่อปี ค.ศ. 2018 เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติระบุว่า การใช้งานเฟสบุ๊คมีส่วนสำคัญต่อการเผยแพร่ข้อความสร้างความเกลียดชังและจุดชนวนให้เกิดความรุนแรง โดยการสืบสวนของสำนักข่าวรอยเตอร์ในปีดังกล่าว ซึ่งถูกอ้างอิงในสำนวนฟ้องครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ระบุถึงตัวอย่างของโพสต์ ความเห็น และภาพกว่า 1,000 ตัวอย่างที่โจมตีชาวโรฮีนจาและชาวมุสลิมอื่นๆ ในเฟสบุ๊ค

ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาอาชญากรรมในภูมิภาคดังกล่าว และเมื่อเดือนกันยายน ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สั่งให้เฟสบุ๊คเปิดเผยข้อมูลบัญชีที่ถูกปิดที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อชาวโรฮีนจาในเมียนมา

การยื่นฟ้องกลุ่มโดยชาวโรฮีนจาครั้งนี้ ยังอ้างอิงคำกล่าวของฟรานเซส ฮอเกน ผู้เปิดเผยเอกสารภายในของเฟสบุ๊คก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า ทางบริษัทไม่ได้ควบคุมเนื้อหาที่อาจทำให้เกิดความรุนแรงได้ในหลายประเทศ

สำนวนฟ้องนี้ยังอ้างรายงานข่าวล่าสุด รวมถึงรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ระบุว่า กองทัพเมียนมาใช้บัญชีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ปลอมเพื่อทำ “สงครามข้อมูลข่าวสาร”

ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์

XS
SM
MD
LG