อินเดียว่าจ้าง ‘นกพิราบสื่อสาร’ รับมือช่วยภัยพิบัติ

นกพิราบเบลเยียมบินระหว่างการฝึกฝนของตำรวจอินเดีย 9 มิถุนายน 2023

แม้ว่าโลกของเราในปัจจุบันจะมีวิธีการติดต่อสื่อสารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันที การสนทนาผ่านกล้องวิดีโอ การใช้อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐโอริสสาที่อยู่ทางตะวันออกของอินเดียยังคงอนุรักษ์ฝูงนกพิราบสื่อสารไว้ใช้เมื่อเกิดภัยพิบัติที่การเชื่อมต่อสื่อสารถูกตัดขาด

บรรดาสถานีตำรวจของอินเดียต่างใช้นกพิราบในการสื่อสารระหว่างกันและกันมาตั้งแต่สมัยการปกครองภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ โดยการใช้นกพิราบสื่อสารสายพันธุ์ Belgian Homer มากกว่า 100 ตัว

สาทิช คูมาร์ กาจพิเย ตำรวจในเขตคัตแทค กล่าวว่า "เราเลี้ยงนกพิราบเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นมรดกตกทอดแด่คนรุ่นหลัง"

Your browser doesn’t support HTML5

อินเดียว่าจ้าง ‘พิราบสื่อสาร’ รับมือช่วงเหตุภัยพิบัติ

เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า นกพิราบเหล่านี้สามารถบินด้วยความเร็ว 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นระยะทางไกลถึง 800 กิโลเมตร โดยพวกมันได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ที่ระบบการสื่อสารเกิดขัดข้อง ในขณะที่พายุไซโคลนที่มีกำลังรุนแรงพัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งในปี 1999 เช่นเดียวกับในปี 1982 ในขณะที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในบางพื้นที่ของรัฐ

ทั้งนี้ นกพิราบสื่อสารมักจะมีข้อความที่เขียนไว้บนกระดาษที่มีน้ำหนักบางเบา สอดไว้ในแคปซูลแล้วมัดไว้ที่ขาของพวกมัน

ปาร์ชูรัม นันดา ผู้ดูแลนกพิราบสื่อสาร กล่าวว่า “เราเริ่มฝึกนกเมื่ออายุได้ 5-6 สัปดาห์ ในขณะที่พวกมันยังต้องอยู่ในกรง” เมื่อพวกมันโตขึ้น นกพิราบจะถูกปล่อยให้เป็นอิสระและให้บินกลับไปที่ศูนย์พักพิงตามสัญชาตญาณของพวกมัน โดยระยะทางจะเพิ่มขึ้นทีละน้อย ๆ และภายใน 10 วัน พวกมันสามารถบินกลับมาได้ในระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร”

ตำรวจและครูฝึกอินเดีย แสดงให้เห็นแคปซูลที่ผูกติดกับข้อเท้าของนกพิราบเบลเยียม ทางตะวันออกของรัฐโอริสสา อินเดีย 9 มิถุนายน 2023

ทั้งนี้ นกพิราบสื่อสารเคยนำข่าวการพิชิตสงครามของกอลไปยังกรุงโรม นำข่าวความพ่ายแพ้ของนโปเลียนที่วอเตอร์ลูมายังอังกฤษ และพวกมันยังถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการส่งข้อความในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย

แต่กาจพิเยกล่าวว่า การที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่เข้ามาในประเทศ ย่อมหมายความว่านกพิราบอินเดียในปัจจุบันจะมีบทบาทเพียงแค่ในพิธีการในช่วงวันหยุดราชการของรัฐบาล เช่น วันประกาศอิสรภาพและวันชาติอินเดีย เท่านั้น

อานิล ดีร์ นักประวัติศาสตร์ซึ่งทำงานร่วมกับตำรวจอินเดียกล่าวว่า การศึกษาแสดงให้เห็นว่านกพิราบสื่อสารเหล่านี้สามารถตรวจจับสนามแม่เหล็ก และสามารถมองเห็นจุดหมายปลายทางของพวกมันได้จากระยะทางไกลหลายพันไมล์ หรือ “แม้แต่ในเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ อย่างเช่น การที่การสื่อสารทุกรูปแบบอาจจะล่มในวันพรุ่งนี้ แต่นกพิราบก็จะไม่มีวันล้มเหลวในหน้าที่แน่นอน”

  • ที่มา: รอยเตอร์