แมลงกำลังคุกคามสิ่งมหัศจรรย์ของโลก! เมื่อหินอ่อนทัชมาฮาลเปลี่ยนเป็นสีเขียวเพราะของเสียจากแมลง

  • Anjana Pasricha

FILE - In this June 3, 2013, photo, a worker sweeps in front of Taj Mahal in Agra, India. India's Supreme Court has ordered a state government to remove a wood-burning crematorium from near the Taj Mahal to protect the iconic monument from pollution damag

ความงดงามของทัชมาฮาลแห่งอินเดียกำลังเจอกับปัญหาคุกคามปัญหาใหม่ เมื่อฝูงแมลงถ่ายของเสียบนทัชมาฮาลทำให้หินอ่อนสีขาวเปลี่ยนเป็นสีเขียว

Your browser doesn’t support HTML5

India Taj Insects

นาย Bhuvan Vikram เจ้าหน้าที่ระดับสูงแห่งสำนักงานสำรวจด้านโบราณคดีแห่งอินเดียในเมืองอัคราทางเหนือของประเทศ กล่าวว่าในช่วงกลางคืน แมลงจะไปเกาะตามขอบต่างๆ ของทัชมาฮาล และถ่ายของเสียสีเขียวไว้ทั่ว แม้ว่าคนงานจะคอยทำความสะอาดของเสียของแมลงเหล่านี้ตลอดเวลา

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าการขัดถูหินอ่อนของทัชมาฮาลบ่อยๆ อาจสร้างความเสียหายแก่ทัชมาฮาล

นาย Vikram ชี้ว่าเจ้าหน้าที่พบปัญหานี้เมื่อปีที่แล้ว และสามารถระบุได้ว่าแมลงพันธุ์นี้มาจากแม่น้ำยมุนาที่เน่าเสีย

เป็นเวลานานหลายปีแล้ว ที่บรรดานักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในอินเดียพยายามปกป้องหินอ่อนสีขาวของทัชมาฮาลที่เริ่มกลายเป็นสีเหลืองเพราะมลพิษอากาศ เมืองอัคราเป็นเมืองที่มีคนอยู่แออัด และเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์โมกุล

ในขณะที่ระดับมลพิษทางอากาศเริ่มดีขึ้นหลังจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินหลายโรงและโรงงานอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษถูกปิด แต่คุณภาพน้ำในแม่น้ำยมุนายังไม่ดีขึ้น

คุณ D.K. Joshi นักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองอัครา กล่าวว่าการแก้ปัญหามลพิษในแม่น้ำยมุนา จะช่วยแก้ปัญหาแมลงที่กำลังคุกคามต่อทัชมาฮาล และเขาได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังศาลสิ่งแวดล้อมแล้ว

เขาชี้ว่าแม่น้ำแห่งนี้มีท่อน้ำเสีย 52 ท่อ ที่ทิ้งลงในแม่น้ำโดยตรง มีทั้งขยะอุตสาหกรรม ขยะพิษและขยะทั่วไป ทางการเมืองใช้เงินไปแล้วหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในการทำความสะอาดแม่น้ำ แต่ปัญหายังไม่ดีขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าขี้เถ้าจากจุดเผาศพอายุ 200 ปีที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับทัชมาฮาล ทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งอาหารของแมลงเหล่านี้

เมื่อหกเดือนที่แล้ว ศาลสูงสุดของอินเดียได้สั่งให้ทางการของเมืองทำการย้ายจุดเผาศพแห่งนี้ แต่มีกลุ่มชาวฮินดูออกมาประท้วง ทำให้ทางการแก้ต่างไปว่าจะส่งเสริมให้คนหันไปใช้เตาเผาศพระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

นาย Vikram แห่งสำนักงานสำรวจด้านโบราณคดีแห่งอินเดียในเมืองอัครา หวังว่าปัญหาแมลงที่คุกคามทัชมาฮาลล่าสุดนี้ จะกระตุ้นให้ทางการออกมาแก้ปัญหาแม่น้ำยมุนาเน่าเสียอย่างจริงจังเสียที

เขายังแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อทัชมาฮาลจากการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยชี้ว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและชาวต่างชาติไปเยือนทัชมาฮาลถึง 6 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2014

เขาชี้ว่า การท่องเที่ยวสร้างมลพิษตามมาต่อทัชมาฮาล เพราะทำให้มีทั้งฝุ่นและขยะ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังใช้มือจับหินอ่อนที่เก่าแก่และละเอียดอ่อนของทัชมาฮาลอีกด้วย

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)