ทีมนักวิจัยชี้ว่าการเผาใหม้ถ่านหิน ไม้ ขยะชีวภาพ และขยะทั่วไปที่ทำกันมานานหลายปี ตลอดจนฝุ่น ล้วนเป็นต้นเหตุให้เกิดการสั่งสมของคาร์บอนที่เป็นต้นเหตุให้หินอ่อนสีขาวบนยอดโดมและหออาซานของมัสยิด แห่งทัชมาฮาลกลายเป็นสีเหลืองขุ่น อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองอัครา เมืองอุตสาหกรรมทางเหนือของอินเดีย
ในการศึกษา ทีมนักวิจัยจากสถาบัน Georgia Institute of Technology มหาวิทยาลัย University of Wisconsin สถาบัน Indian Institute of Technology ที่เมือง Kanpur และสถาบัน Archeological Survey of India ได้นำตัวอย่างหินอ่อนบริสุทธิ์ชิ้นเล็กๆ หลายชิ้นไปวางไว้บนทัชมาฮาลโดยทิ้งเอาไว้นาน 2 เดือนก่อนจะนำไปวิเคราะห์ดูฝุ่นผงที่เกาะติดอยู่บนผิวหน้าของก้อนหินอ่อนเหล่านี้
ศาสตราจารย์ S.N. Tripathi แห่งสถาบัน Indian Institute of Technology ที่ เมือง Kanpur เป็นหนึ่งในผู้ร่างผลการวิจัย เขากล่าวว่าฝุ่นผงคาร์บอนที่เกาะบนก้อนหินอ่อนตัวอย่างมาจากหลายแหล่งด้วยกัน
เขากล่าวว่าทุกวันนี้เมืองต่างๆ ในอินเดียมียานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มมากขึ้น เขากล่าวว่ายวดยานเหล่านี้เป็นแหล่งปล่อยฝุ่นผงคาร์บอนดำและการเผาไม้เพื่อทำความอุ่นหรือการเผามูลสัตว์และขยะอื่นๆ เป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นผงคาร์บอนอินทรีย์
บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างเตือนมาหลายปีแล้วว่ามลพิษทางอากาศในเมืองอัคราเป็นสาเหตุให้ทัชมาฮาลสูญเสียความงดงาม
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทางการของเมืองได้ห้ามยวดยานเข้าไปใกล้ทัชมาฮาลในระยะ 500 เมตรและยังมีความพยายามนำพลังงานสะอาดไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมของเมืองและยังมีการปรับปรุงการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอแก่ความต้องการเพื่อลดการใช้เครื่องปั่นไฟน้ำมันดีเซล
แต่แม้จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาป้องกันหลายอย่าง การศึกษาเรื่องนี้จัดทำในปีคริสตศักราช 2010 ยังพบว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มจำนวนประชากรและปัญหาการจราจรส่งผลให้มลพิษทางอากาศในเมืองอัคราย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม
คุณ Ratish Nanda นักอนุรักษ์ที่กรุงนิวเดลลีกล่าวว่าทัชมาฮาลเก่าแก่ถึง 360 ปี จึงมีการเปลี่ยนสีเป็นธรรมดา อย่างไรก็ดี คุณ Nanda เน้นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่และจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลและปกป้องทัชมาฮาลด้วย
เขากล่าวว่ามีการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่ากำลังเกิดการเปลี่ยนสีของหินอ่อนของทัชมาฮาลและเกิดขึ้นอย่างไรแต่ยังไม่มีมาตรการอะไรจริงๆ จังๆ ออกมาเพื่อป้องกัน
เขากล่าวว่ากระบวนการอนุรักษ์ทัชมาฮาลต้องมีการปรับเปลี่ยน จำเป็นต้องมีมาตรการอนุรักษ์ออกมาใช้ การทำความสะอาดหินอ่อนจะต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาว
ตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1994 ทางการอินเดียได้เริ่มทำความสะอาดหินอ่อนด้วยการพอกโคลนเพื่อกำจัดฝุ่นผงที่เกาะบนหินอ่อน โคลนที่ใช้มีส่วนผสมของหินปูนสูง โคลนถูกพอกลงบนพื้นผิวของโดมและหออาซานในทัชมาฮาล หลังจากนั้นจะทำการลอกโคลนออก อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้รับการพอกโคลนเป็นหนที่ 4 ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการพอกโคลนอาจจะสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์แก่ทัชมาฮาลได้