รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เปลี่ยนชื่อประเทศอินเดียเป็นภาษาสันสกฤตในชื่อภารัต ตามเอกสารเชิญร่วมรับประทานอาหารค่ำที่ส่งให้แก่แขกผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดจี20 นับเป็นท่าทีที่สะท้อนถึงความพยายามของพรรคชาตินิยมฮินดูในการลบเลือนสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นชื่อที่ใช้ในยุคอาณานิคมออกไป
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ประธานาธิบดีอินเดียเทราปที มุรมู ถูกเรียกในฐานะ “ประธานาธิบดีแห่งภารัต” แทนที่จะเป็น “ประธานาธิบดีอินเดีย” ในบัตรเชิญที่ส่งให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดจี20
อินเดียประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคนมีชื่อเป็นทางการ 2 ชื่อด้วยกัน คือ อินเดียและภารัต แต่ชื่ออินเดียถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากกว่าทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ชื่อภารัต เป็นภาษาสันสกฤตโบราณที่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีมาตั้งแต่ยุคก่อนบันทึกประวัติศาสตร์อินเดีย และชื่อดังกล่าวให้ความหมายว่าอินเดียในภาษาฮินดู
การเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศอินเดียได้รับการสนับสนุนจากทางการของพรรครัฐบาล ภารตียา ชนตา (Bharatiya Janata Party – BJP) ที่ชี้ว่าชื่ออินเดียถูกนำมาใช้ในยุคอาณานิคมอังกฤษ และเป็น “สัญลักษณ์แห่งระบอบทาส” โดยอังกฤษปกครองอินเดียมาราว 200 ปีจนกระทั่งได้รับอิสรภาพในปี 1947
ที่ผ่านมา พรรค BJP ของนายกฯ โมดี พยายามจะลบชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุคอาณานิคมในอดีต โดยเมื่อปีก่อนรัฐบาลอินเดียเปลี่ยนชื่อย่านใจกลางกรุงนิวเดลีจากเดิมที่เป็นชื่อในยุคอาณานิคมออกไปเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลอินเดียระบุว่าการเปลี่ยนชื่อเป็นความพยายามทวงคืนประวัติศาสตร์ฮินดูของอินเดียกลับมา
แต่พรรคฝ่ายค้านอินเดีย กลับวิจารณ์ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาล ซึ่งแย้งว่าควรจะคงการใช้ชื่ออินเดียและภารัตไว้ในฐานะชื่อทางการต่อไป
ประเด็นพิพาทเรื่องอินเดียกับภารัต ยกระดับขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่พรรคฝ่ายค้านอินเดียก่อตั้งพันธมิตรใหม่ INDIA ที่ย่อมาจาก Indian National Developmental Inclusive Alliance เพื่อหวังโค่นอำนาจนายกฯ โมดีและพรรครัฐบาล BJP ก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศในปี 2024 ทำให้ทางการอินเดียภายใต้รัฐบาลพรรค BJP พยายามผลักดันให้ประเทศเปลี่ยนชื่อมาเป็นภารัตแทนอินเดีย
- ที่มา: เอพี