ฝ่ายค้านอินเดียชูนโยบาย “ประกันรายได้ขั้นต่ำ” ดึงฐานเสียงคนรายได้น้อย

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิเคราะห์การเมืองอินเดียและฝ่ายรัฐบาลโจมตีนโยบายประชานิยมใหม่ของฝ่ายค้านอินเดีย ที่เตรียมเสนอนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำ สำหรับผู้มีรายได้น้อยราว 50 ล้านครัวเรือนในประเทศ เพื่อดึงคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้งอินเดียที่จะมาถึงในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า 11 เมษายนนี้

นายราหุล คานธี หัวหน้าพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอินเดีย ประกาศนโยบายประกันรายได้ให้กับ 50 ล้านครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 1,050 ดอลลาร์ หรือราว 32,500 บาทต่อปี โดยระบุว่าเป็นความชอบธรรมของผู้มีรายได้น้อยของอินเดียที่มีอยู่เกือบ 250 ล้านคนทั่วประเทศ

Congress party General Secretary Priyanka Gandhi Vadra meets supporters as she arrives at Assi Ghat in Varanasi, India, March 20, 2019.

ด้านนายกรัฐมนตรีนเรทรา โมดี จากพรรค BJP ของอินเดีย กล่าวว่านโยบายของนายราหุล เป็นฝันปลอมๆ ให้กับประชาชน ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านการเมืองอินเดีย ระบุว่านโยบายประชานิยมนี้ต้องใช้งบประมาณราว 52,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

ก่อนหน้านี้ ฝั่งพรรค BJP ที่เป็นฝ่ายรัฐบาล เพิ่งประกาศจะแจกเงิน 90 ดอลลาร์ หรือราว 2,800 บาทต่อปี ให้กับเกษตรกรอินเดีย

Indian Prime Minister Narendra Modi addresses an election rally at Dumi village in Akhnoor, about 20 kilometers from Jammu, India, March 28, 2019.

นโยบายประกันรายได้ของนายราหุล เรียกความสนใจจากชาวอินเดียได้มาก และมาในจังหวะที่นโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำ หรือ Universal Basic Income กำลังได้รับความสนใจประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างฟินแลนด์และฝรั่งเศส

แต่ในอินเดียนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำกลับนำไปใช้กับผู้มีรายได้น้อย ขณะที่ช่องว่างทางรายได้ของคนรายได้ปานกลางยังมีอยู่มาก ซึ่งมุมมองของประชาชนชาวอินเดีย กลับมองว่าพวกเขาไม่ได้สนใจเงินให้เปล่า แต่ต้องการอาชีพที่มีรายได้ก้าวหน้ามากกว่า

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ มองว่า การใช้มาตรการรายได้ครองชีพขั้นต่ำ หรือ Basic Income ในอินเดีย เป็นสิ่งที่ทำได้ ภายใต้ข้อจำกัดที่รัฐบาลอินเดียจะต้องยกเลิกสวัสดิการสังคมที่มีอยู่หลายร้อยรายการในประเทศ เช่น โครงการอาหารราคาถูกสำหรับคนรายได้น้อย, เงินอุดหนุนปุ๋ยสำหรับเกษตกร, นโยบายการันตีอาชีพในชนบท ซึ่งใช้งบประมาณรัฐราวร้อยละ 12 นอกจากนี้มาตรการอุดหนุนผู้มีรายได้น้อย ยังสร้างข้อกังขาเรื่องการจัดสรรเงินช่วยเหลือรวมทั้งการทุจริตคอรัปชันด้วย

(เรียบเรียงบทความจากผู้สื่อข่าว Anjana Pasricha จากกรุงนิวเดลี)