การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ได้รับความสนใจจากนักวิชาการและนักวิเคราะห์ที่งานสัมมนาที่กรุงวอชิงตันในวันพฤหัสบดี ซึ่งผู้สันทัดกรณีต่างเห็นว่า ไม่ว่าฝ่ายใดจะประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลใหม่น่าจะขาดเสถียรภาพในการปกครองประเทศ
ศ.ดร.อัลเลน ฮิกเคน (Allen Hicken) แห่งคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯ กล่าวที่งานสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งจัดโดยหน่วยงาน Center for Strategic and International Studies ว่าการเมืองไทยที่มีพรรคเล็กๆ จำนวนมากกลับมาให้เห็นอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นฉากที่เคยเห็นมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2523 ถึง 2539
เขาคิดว่าคณะรัฐมนตรีในบริบทการเมืองเช่นนี้น่าจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่มีอายุเฉลี่ยประมาณหนึ่งปีครึ่งเท่านั้น
ผู้เข้าร่วมเสวนาวิชาการครั้งนี้ยังประกอบด้วย เออร์เนส บาเวอร์ (Ernest Bower) ซีอีโอบริษัทที่ปรึกษา BowerGroupAsia และ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในบรรดาสูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นไปได้ ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในการบรรยายครั้งนี้ คือรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะเป็นไปตามแนวทางถูกเตรียมไว้ช่วงหลายปีหลังการทำรัฐประหาร 5 ปีก่อน
เออร์เนส บาเวอร์กล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคขนาดกลางถูกออกแบบมาอยู่แล้วให้สวมบทเป็นตัวตัดสินความสำเร็จของสองขั้วใหญ่ซึ่งกำลังแข่งกันจัดตั้งรัฐบาล
แม้ยังไม่สามารถระบุได้ว่ารูปร่างหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร นายบาเวอร์ เชื่อว่าการเมืองไทยจากนี้จะยังคงมีไม่มีความชัดเจนเปรียบเหมือน “น้ำที่ขุ่นไปด้วยโคลน”
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าประสิทธิภาพการทำงานภายใต้รัฐบาลใหม่ หากว่าเป็นของฝ่ายพลังประชารัฐ จะถูกบั่นโดยปัจจัยการเมือง เพราะพรรคร่วมรัฐบาลมีความแตกต่างด้านนโยบาย ดังนั้นรัฐบาลน่าจะตั้งมั่นที่จะประคองอำนาจให้อยู่รอดเท่านั้น
สำหรับความหวั่นเกรงเรื่องการทำปฏิวัติ อาจารย์ประจักษ์คิดว่ากองทัพไม่น่าจะทำเช่นนั้น โดยเฉพาะช่วงก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นอกจากนั้น ในระยะสั้นการปฏิวัติยังไม่ช่วยภาพลักษณ์ของทหารหลังจากที่ได้พยายามให้เกิดการเลือกตั้งไปแล้ว
ท้ายสุด ศ.ดร.อัลเลน ฮิกเคนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ อาจต้องปรับตัวให้มี “ความรอมชอม” มากขึ้น หากได้เป็นผู้นำภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แม้จะเป็นบุคลิกที่ไม่ถนัดในฐานะอดีตผู้นำกองทัพก็ตาม
เขากล่าวว่าการที่จะสามารถบริหารคนที่มาจากการเลือกตั้งได้ดี ต้องอาศัยทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นทั้งในพรรคของตนที่มีกลุ่มต่างๆ และนอกพรรค
นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า ผู้นำกองทัพหรือผู้นำรัฐประหาร ที่มาทำงานในสภาผู้แทนราษฎร อาจจะต้องปรับตัวให้คุ้นเคยกับการรอมชอมและการประสานประโยชน์เพื่อให้เกิดความตกลงกันได้ในเรื่องต่างๆ มากขึ้น
(สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)