องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประชากรโลกร้อยละ 90 สูดอากาศมลพิษ โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเขตเมืองในเอเชียมากกว่าส่วนอื่นๆของโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ในเมืองใหญ่ ที่มีประชากร 10 ล้านคนอย่างกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย แพทย์ต้องดูเเลผู้ป่วยจำนวนมากจากอาการ เเน่นหน้าอก ไอและหายใจไม่ออก ซึ่งเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เป็นพิษ
การเผาผลาญพลังงานฟอสซิล เป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งของมลพิษทางอากาศ ซึ่งทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ประมาณ 7 ล้านคนต่อปี
ในส่วนอื่นๆของโลก การใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน ค่อยๆลดลง ราวหนึ่งในสาม หลังจากที่เเตะระดับสูงสุดเมื่อ 31 ปีก่อน
แต่สำหรับเอเชียความต้องการใช้ถ่านหิน เพิ่มขึ้น 3.5 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว
นักวิเคราะห์ นิโคส์ ทาโฟส์ แห่งหน่วยงาน Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ที่กรุงวอชิงตันกล่าวกับรอยเตอร์สว่าภูมิภาคนี้เผาผลาญเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็ว
ในเดือนนี้ รายงานของ Greenpeace ร่วมกับ IQAirVisual ชี้ว่า ส่วนใหญ่ของเมืองที่มีปัญหามลพิษร้ายเเรงที่สุดอยู่ในเอเชีย โดยเมืองในอินเดียและจีนจำนวนมากติดอันดับต้นๆ
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาการ์ตาและฮานอย คือเมืองที่เผชิญปัญหามลพิษรุนแรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นิโคส์ ทาโฟส์ กล่าวว่า หลังจากจีนถูกรุมเร้าด้วยปัญหามลพิษทางอากาศ ทางการลดการใช้ถ่านหิน และอินเดียเปิดตัวโครงการต้านปัญหามลพิษทั่วประเทศ
เเละเมื่อพิจารณาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิเคราะห์ ทาโฟส์ แห่ง CSIS กล่าวว่า ภูมิภาคนี้ยังเป็น "จุดบอด" ของการรณรงค์เพื่อลดมลพิษทางอากาศ
ในรายงานของรอยเตอร์ส ทาทา มัสทาสยา ตัวแทนของหน่วยงาน Greenpeace ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าทิศทางของโลกสะท้อนถึงการเลี่ยงไม่ใช้ถ่านหิน แต่เอเชียอาคเนย์เดินสวนทางกับกระเเสดังกล่าว
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ใช้ถ่านหินร้อยละ 75 ของถ่านหินที่ผลิตได้ทั่วโลกเมื่อ 2 ปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์กล่าวว่าทรัพยากรถ่านหินที่มีมากในภูมิภาคและราคาถูกประกอบกับความล้มเหลวในการผลักดันแหล่งเชื้อเพลิงทางเลือกเป็นเหตุผลหลักของการที่ภูมิภาคนี้เดินสวนทางกับกระเเสโลก
รายยัน ฮาสซาน ผู้อำนวยการบริหารจากองค์การเอ็นจีโอ Forum on ADB ในกรุงมะนิลากล่าวว่า ในฟิลิปปินส์เกิดเหตุการณ์ที่คนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เพราะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน ตามรายงานของรอยเตอร์ส
อย่างไรก็ตาม ทางการของประเทศต่างๆอาจพบทางออกทั้งทางเทคนิคและทางนโยบาย
กล่าวคือ ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างหนึ่งในเอเชีย ที่เร่งพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
นอกจากนี้ นิโคส์ ทาโฟส์ แห่ง CSIS กล่าวว่าการรณรงค์ในประเทศจีนเพื่ออากาศที่สะอาดขึ้นอาจเป็นพิมพ์เขียวให้กับประเทศอื่นๆได้ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลจากการใช้พลังงานที่เป็นพิษต่อสิ่งเเวดล้อม
เขากล่าวว่า ความตื่นตัวเรื่องการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอาจสร้างจุดเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ เพราะประชาชนเป็นผู้รับผลกระทบและนักการเมืองก็จะต้องทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายไปได้