Your browser doesn’t support HTML5
เวลานี้รัฐบาลอินเดียกำลังพยายามทำความสะอาดแม่น้ำคงคาครั้งใหญ่ เพื่อหยุดยั้งการปล่อยมลพิษลงสู่แม่น้ำคงคา ทั้งมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม จากภาคการเกษตร จากบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำ และจากพิธีกรรมทางฮินดูที่ปล่อยศพญาติมิตรให้ลอยไปตามแม่น้ำ
แม่น้ำคงคาคือแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดียซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านภาคเหนือของอินเดีย และถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอินเดียกว่า 400 ล้านคน
เมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลอินเดียได้ประกาศโครงการฟื้นฟูแม่น้ำคงคา ตลอดความยาว 2,500 กม. ด้วยเงินลงทุน 3,000 ล้านดอลลาร์ ภายใต้ชื่อ โครงการ “นะมามิ คงคา” เป้าหมายเพื่อกำจัดมลพิษในแม่น้ำซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร
อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มยังไม่แน่ใจว่า ความพยายามของรัฐบาลอินเดียครั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่
คุณ Rakesh Jaiswal ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “Eco Friends” ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อหยุดยั้งการปล่อยมลพิษลงสู่แม่น้ำคงคามานานหลายสิบปีแล้ว บอกว่าปัจจุบันแม่น้ำคงคาส่งกลิ่นเหม็นเน่า และกลายเป็นสีดำ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีโรงงานฟอกหนังตั้งอยู่ เขาบอกด้วยว่าแม่น้ำคงคากำลังจะตาย
สำหรับโครงการใหม่ของรัฐบาลอินเดียที่จะฟื้นฟูแม่น้ำคงคา คุณ Jaiswal กล่าวว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ตนไม่คาดหวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากนัก
ความเห็นของคุณ Jaiswal ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้ายเกินไป เพราะในช่วง 30 ปีมานี้ โครงการของรัฐบาลหลายโครงการที่มีต้นทุนหลายล้านดอลลาร์ต่างประสบความล้มเหลว และปัญหามลพิษในน้ำก็ดูเหมือนจะแย่ลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนธรา โมดี ได้รับปากว่าครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะจะทำอย่างจริงจังด้วยความร่วมมือของผู้นำศาสนาฮินดูที่มองว่า แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายนี้คือหัวใจสำคัญของศาสนาฮินดู โดยจะมีการรณรงค์ปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่องตามพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน พัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ตลอดจนสร้างโรงงานกำจัดน้ำเสียอีกหลายแห่ง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนชี้ว่า ปัญหาที่แม่น้ำคงคาเผชิญอยู่นั้นร้ายแรงมาก เริ่มตั้งแต่ของเสียจากชุมชนตลอดริมฝั่งแม่น้ำความยาวหลายร้อย กม. โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่าง กานปุระ พาราณสี และอัลลาฮาบัด ซึ่งทำให้น้ำในแม่น้ำบริเวณนั้นมีของเสียและขยะจากบ้านเรือนปะปนอยู่ถึง 75% ขณะที่รัฐบาลส่วนท้องถิ่นของเมืองใหญ่เหล่านั้นก็ขาดการบริหารจัดการแหล่งน้ำที่มีประสิทธิภาพ
ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การที่ชาวฮินดูหลายล้ายคนโดยเฉพาะในเมืองศักดิ์สิทธิ์อย่างพาราณสี มีพิธีลอยศพญาติมิตรไปตามแม่น้ำ ตามความเชื่อว่าแม่น้ำคงคาจะชำระล้างบาปของคนๆนั้นได้ โดยหลังจากรัฐบาลเริ่มโครงการล่าสุด ได้มีการกู้ศพเหล่านั้นขึ้นมาจากแม่น้ำแล้วหลายพันศพด้วยกัน
ชาวฮินดูบางคนยังนิยมดื่มน้ำและชำระล้างร่างกายในแม่น้ำสายนี้เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะมีโอกาสที่จะเปิดรับแบคทีเรียจำนวนมากที่ปะปนมากับน้ำ
ขณะที่คุณ Mishra แห่งองค์กรสิ่งแวดล้อม Sankat Mochan Foundation ชี้ว่าโครงการฟื้นฟูแม่น้ำคงคาควรมุ่งเป้าไปที่การป้องกันไม่ให้น้ำเสียจากบ้านเรือนหรือจากโรงงานอุตสาหกรรม ไหลลงสู่แม่น้ำมากกว่า
ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้บอกว่า น้ำเสียทุกหยดที่จะไหลเข้าไปปะปนในแม่น้ำควรผ่านบำบัดหรือนำกลับไปใช้ใหม่ตามพื้นที่การเกษตร แต่หากไม่มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้น ทางที่ดีที่สุดคือปล่อยน้ำเสียที่ปลายแม่น้ำ ไม่ใช่ต้นน้ำอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน
แม้ว่าจะมีเสียงถกเถียงมากมาย แต่ก็ถือว่าโครงการนี้คือการทดสอบความสามารถของนายกฯ นเรนธรา โมดี ผู้ซึ่งเน้นย้ำอยู่เสมอว่าโครงการ “นะมามิ คงคา” นี้จะไม่ใช่มวยล้ม เหมือนโครงการอื่นๆ ที่ผ่านมาแน่นอน
(ผู้สื่อข่าว Anjana Pasricha รายงานจากกรุงนิวเดลี / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)