องค์กรอิสลามหลายกลุ่มในอินเดียเรียกร้องให้ชาวมุสลิมระงับการฆ่าวัวเพื่อการสังเวยหรือพลีทานในช่วงเทศกาล Eid al-Adha เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวทางศาสนาในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเชื่อว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
นักวิชาการด้านอิสลามในอินเดียหลายคน รวมทั้งคุณ Syed Hussein Madani ผู้เริ่มรณรงค์ต่อต้านการฆ่าวัวเพื่อสังเวย กล่าวว่าชาวมุสลิมควรระงับการฆ่าวัวหรือวัวกระทิงในช่วงเทศกาล Eid al-Adha เพื่อความสงบสุขและความสอดคล้องของชุมชนชาวมุสลิมและชาวฮินดู และเป็นการส่งสัญญาณด้านบวกให้กับประชากรที่นับถือศาสนาอื่นๆ ในอินเดีย
การรณรงค์ของคุณ Madani ได้รับคำชื่นชมจากชุมชนชาวฮินดูและชาวมุสลิมบางส่วน แต่ก็มีชาวมุสลิมไม่น้อยที่เชื่อว่าพิธีกรรมการฆ่าวัวเพื่อพลีทานนั้นควรมีอยู่ต่อไป เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเสรีภาพทางศาสนาในอินเดีย
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กลุ่มองค์กรศาสนาฮินดูแนวอนุรักษ์นิยมพยายามผลักดันให้มีกฏหมายห้ามฆ่าวัวทั่วประเทศ ปัจจุบันหลายรัฐในอินเดียประกาศห้ามฆ่าวัวและบางรัฐสั่งห้ามขายเนื้อวัว ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อประชากรที่นับถือศาสนาอื่นในพื้นที่เหล่านั้น ที่มองว่าเนื้อวัวคืออาหารสำคัญอย่างหนึ่ง
หลายครั้งมีข่าวว่าชาวมุสลิมถูกชาวฮินดูจู่โจมทำร้าย ขณะกำลังแบกหรือหาบวัวอยู่ซึ่งดูเหมือนกำลังเอาไปฆ่าเพื่อสังเวยทางศาสนา
คุณ Syed Hussein Madani ชี้ว่าจากความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ตนจึงเชื่อว่าชาวมุสลิมในอินเดียควรยกเลิกการฆ่าวัวเพื่อพลีทานในช่วงเทศกาล Eid al-Adha โดยเสนอให้เปลี่ยนไปใช้สัตว์อื่น เช่นแกะหรือแพะแทน เพราะตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม ศาสดามูฮัมหมัดก็ใช้แกะในการพลีทานในพิธีนี้เช่นกัน
ด้านคุณ Indresh Kumar จากองค์กรฮินดูแนวขวาจัด RSS เชื่อว่าหากชาวมุสลิมหยุดการฆ่าวัวเพื่อบูชายัญ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดูจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในรัฐเบงกอลตะวันตกซึ่งยังอนุญาตให้ฆ่าวัวได้นั้น ประชาชนที่นั่นบอกว่าเมื่อเทียบต้นทุนต่อหัว วัวมีราคาถูกกว่าแพะหรือแกะ ดังนั้นจึงเป็นที่นิมนำมาใช้ในการพลีทานมากกว่า เพราะแพะหนึ่งตัวสามารถนำมาใช้พลีทานได้สำหรับคนๆ เดียว แต่วัวหนึ่งตัวสามารถนำมาใช้พลีทานได้สำหรับ 7 คน
แต่สำหรับผู้นำชาวมุสลิมอย่างคุณ Mohamad Adeeb อดีตสมาชิกรัฐสภาอินเดีย มองว่าการผลักดันให้ยุติการนำวัวมาใช้ในพิธีสังเวยทางศาสนาโดยอ้างเหตุผลเรื่องความสงบในประเทศนั้น
เป็นสิ่งบ่งชี้ว่ารัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับชาวฮินดูซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ โดยไม่สนใจชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่น
(ผู้สื่อข่าว Shaikh Azizur Rahman รายงานจากเมือง Kolkata / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)