Your browser doesn’t support HTML5
ในขณะนี้มีสามประเทศ คือ สหรัฐ จีน กับรัสเซีย ที่มีขีดความสามารถเรื่องการทำลายดาวเทียม และจากคำประกาศของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi เมื่อวันพุธ อินเดียกำลังก้าวเข้ามาเป็นประเทศที่สี่ ซึ่งมีอาวุธหรือขีดความสามารถในเรื่องนี้เช่นกัน
นายกรัฐมนตรีของอินเดีย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญด้านอวกาศของประเทศ จากการยิงทำลายดาวเทียมซึ่งอยู่ในวงโคจรระดับต่ำเหนือพื้นโลกราว 300 กิโลเมตร
แต่ผู้นำรัฐบาลอินเดียก็ยืนยันว่า การทดลองนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศของสงคราม และไม่ได้มีขึ้นเพื่อโจมตีใคร ทว่าเพื่อเป็นหลักประกันและเพื่อปกป้องอินเดียซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
อาวุธต่อต้านดาวเทียมดังกล่าวถูกออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศของอินเดียเอง และกระทรวงการต่างประเทศอินเดียแถลงว่า ระบบอาวุธที่ว่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยับยั้งภัยคุกคามต่อทรัพยากรในอวกาศของอินเดียจากการถูกโจมตีด้วยจรวดขีปนาวุธพิสัยไกล
และว่าอินเดียไม่มีความตั้งใจที่จะแข่งขันเพื่อสร้างสมอาวุธในอวกาศแต่อย่างใด โดยขณะนี้อินเดียมีเป้าหมายโครงการอวกาศเพื่อสร้างดาวเทียมและกำลังเตรียมส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในกรุงนิวเดลลี ชี้ว่า ความสำเร็จของอินเดียในการทดสอบอาวุธทำลายดาวเทียมซึ่งอยู่ในวงโคจรระดับต่ำนี้มีความสำคัญ โดยมุ่งเป้าไปที่จีนซึ่งประสบความสำเร็จในเรื่องเดียวกันนี้เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว
นาย Bharat Karnad นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของ Center for Policy Research ในกรุงนิวเดลลี อธิบายว่า ดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรระดับต่ำมักถูกใช้โดยประเทศฝ่ายตรงข้ามเพื่อสอดแนมและเก็บรวบรวมข้อมูลทางยุทธวิธี และขณะนี้อินเดียกำลังส่งสัญญาณไปถึงจีนว่า อินเดียมีขีดความสามารถทำลายดาวเทียมสอดแนมของจีนได้ ดังนั้นจีนจะไม่มีความได้เปรียบในเรื่องนี้อีกต่อไป
ในอดีตที่ผ่านมา อินเดียซึ่งมีพรมแดนติดกับทั้งจีนและปากีสถานได้เคยทำสงครามช่วงสั้นๆ กับทั้งสองประเทศ และรัฐบาลกรุงนิวเดลลีก็มีความกังวลเกี่ยวกับการเป็นพันธมิตรทางทหารอย่างใกล้ชิดระหว่างปากีสถานกับจีนด้วย
คำประกาศความสำเร็จของอินเดียเรื่องการทำลายดาวเทียมสื่อสารและสอดแนมซึ่งอยู่ในวงโคจรระดับต่ำนี้ มีขึ้นราวหนึ่งเดือนหลังเกิดการปะทะที่พรมแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และสองอาทิตย์ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนถึง 19 พฤษภาคม