การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อ

Climate Change Virus Spread

การศึกษาครั้งใหม่ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้มีไวรัสชนิดใหม่หลายพันชนิดแพร่ระบาดไปตามสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ ภายในปีค.ศ. 2070 และมีแนวโน้มว่า จะเพิ่มความเสี่ยงที่โรคติดเชื้ออุบัติใหม่จะกระโดดจากสัตว์ไปสู่มนุษย์อีกด้วย

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งโดยเฉพาะในแถบแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่มีการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงจากมนุษย์ไปสู่สัตว์ หรือจากสัตว์ไปสู่มนุษย์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อันมีทั้งไข้หวัดใหญ่ เอชไอวี อีโบลา และโคโรนาไวรัส

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้แบบจำลองเพื่อศึกษาว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 3,000 สายพันธุ์จะย้ายถิ่นฐานและแพร่เชื้อไวรัสได้อย่างไรในอีก 50 ปีข้างหน้า หากโลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส (3.6 องศาฟาเรนไฮต์) โดยผลการศึกษาของนักวิจัยซึ่งแสดงถึงความเป็นไปได้ของเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature ฉบับที่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นักวิจัยพบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสข้ามสายพันธุ์นั้นจะเกิดขึ้นมากกว่า 4,000 ครั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้มีการศึกษาสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ เช่น นกและสัตว์ทะเล

ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าไวรัสทุกชนิดจะแพร่ระบาดไปสู่มนุษย์หรือกลายเป็นโรคระบาดใหญ่อย่างในกรณีของโคโรนาไวรัส หากแต่ว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนไวรัสข้ามสายพันธุ์นั้นหมายถึงการยกระดับความเสี่ยงในการแพร่ระบาดไปสู่มนุษย์ได้

การศึกษาชี้ให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ระดับโลก 2 ประการ ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ในขณะที่โลกของเราต้องหาทางรับมือกับปัญหาทั้งสองนี้

นักวิจัยกล่าวว่า การค้นคว้าวิจัยก่อนหน้าเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการตัดไม้ทำลายป่า การสูญพันธุ์ของสัตว์ และการค้าสัตว์ป่า กับการแพร่ระบาดของโรคระหว่างในสัตว์และมนุษย์ แต่ยังไม่ค่อยมีงานวิจัยในเรื่องที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้อย่างไร

In this Nov. 23, 2019 photo, a burned area of the Amazon rainforest is seen in Prainha, Para state, Brazil. Official data show Amazon deforestation rose almost 30% in the 12 months through July, to its worst level in 11 years. Para state alone accounted for 40% of the loss. (AP Photo/Leo Correa)

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศและโรคติดเชื้อต่างเห็นพ้องกันว่า โลกที่ร้อนขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเสี่ยงสำหรับการเกิดไวรัสชนิดใหม่

แดเนียล อาร์ บรู๊คส์ (Daniel R. Brooks) นักชีววิทยาจาก University of Nebraska State Museum และผู้ร่วมเขียนหนังสือ “The Stockholm Paradigm: Climate Change and Emerging Disease” กล่าวว่า การศึกษานี้แสดงความตระหนักรับรู้ถึงภัยคุกคามอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในแง่ของความเสี่ยงของการเกิดโรคติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย

แอรอน เบิร์นสไตน์ (Aaron Bernstein) กุมารแพทย์และรักษาการผู้อำนวยการของ The Center for Climate, Health และ Global Environment ที่ Harvard T.H. Chan School of Public Health กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวยืนยันความสงสัยที่มีมายาวนานเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อการเกิดโรคติดเชื้อ และว่า การศึกษานี้ยังชี้ว่า ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดบ่อยครั้งขึ้นในบริเวณใกล้ ๆ กับที่ผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่

เกรกกอรี่ อัลเบอรี (Gregory Albery) นักนิเวศวิทยาด้านโรคภัยไข้เจ็บที่มหาวิทยาลัย Georgetown กล่าวว่า โรคติดเชื้ออันเกิดจากสภาพอากาศนั้นมีแนวโน้มว่า ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น มนุษย์เราควรพยายามเรียนรู้และเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้ให้มากขึ้น และว่า ปัญหานี้ไม่สามารถป้องกันได้ แม้แต่ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่เลวร้ายเท่าใดนักก็ตาม

คอลิน คาร์ลสัน (Colin Carlson) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัย Georgetown ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า เราต้องพยายามลดก๊าซเรือนกระจกและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ

ทางด้าน จารอน บราวน์ (Jaron Browne) ผู้อำนวยองค์กร Grassroots Global Justice Alliance กล่าวว่า ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรมด้านสภาพอากาศ ที่ประชากรที่อยู่ในแถบแอฟริกาและเอเชียต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการสัมผัสจับต้องกับเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งเป็นการเน้นย้ำอีกครั้งว่า ผู้ที่อยู่ในแนวหน้าของวิกฤต มักจะเป็นผู้ที่สร้างปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด

  • ที่มา: เอพี